Categories
บทความ

เข่าเสื่อม และอาการข้อเข่าเสื่อม โรคใกล้ตัวที่ต้องทำความรู้จัก และเตรียมตัวให้พร้อม

เข่าเสื่อม และอาการข้อเข่าเสื่อม โรคใกล้ตัวที่ต้องทำความรู้จัก และเตรียมตัวให้พร้อม

   โรคข้อเข่าเสื่อม แทบจะกลายเป็นคำคุ้นเคยสำหรับผู้สูงอายุ แต่ในทุกวันนี้ที่วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง ความสะดวกสบายต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ส่งผลให้โรคข้อเข่าเสื่อมมาเยี่ยมเยือนได้เร็วขึ้น ปัจจุบันเราไม่ได้พบอาการข้อเข่าเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุ 45 ปีขึ้นไปก็มีโอกาสเกิดโรคได้เช่นกัน

โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมและสึกหรอของผิวกระดูกอ่อนข้อเข่า ซึ่งผิวกระดูกอ่อนนี้ ในภาวะปกติทำหน้าที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อที่เรียบลื่น ไม่ติดขัด และทำหน้าที่เป็นส่วนรองรับน้ำหนักของร่างกาย

อาการข้อเข่าเสื่อมจะส่งผลให้เกิดการอักเสบของกระดูกอ่อนผิวข้อและเยื่อหุ้มข้อ ทำให้ความสามารถในการสร้างน้ำไขข้อลดลง หรือสูญเสียคุณสมบัติของน้ำไขข้อไป ส่งผลย้อนกลับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และอาจหายไปทั้งหมด

ในผู้ป่วยที่ข้อเสื่อมขั้นรุนแรง ผิวข้อจะเกิดความขรุขระไม่เรียบลื่น มีกระดูกงอกเกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ข้อ เกิดการโก่งงอเสียความสมดุลของข้อเข่ามากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความรุนแรงของโรคที่เป็นมากขึ้น

สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม หรือการเสียหาย สึกหรอ ของผิวกระดูกอ่อน มีได้หลายสาเหตุดังต่อไปนี้

  • อายุที่มากขึ้น 
  • น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ (ภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน) ดัชนีมวลกายเกินกว่าเกณฑ์ปกติ (BMI > 25) 
  • การใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก ต่อเนื่องยาวนาน เช่น งานที่ต้องยกของหนักบ่อยๆ, งานที่ต้องมีกิจกรรมการนั่งบนพื้น พับเพียบ นั่งยอง ย่อเข่าบ่อยๆ 
  • อุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นบริเวณข้อเข่า เช่น กระดูกหัก, กระดูกสะบ้าเข่าหัก, การฉีดขาดของเอ็นไขว้หน้า หรือหมอนรองกระดูกเข่า 
  • มีประวัติการติดเชื้อในข้อเข่า
  • มีพันธุกรรมของโรคข้อเข่าเสื่อม 
  • โรคข้ออักเสบเรื้อรังต่างๆ เช่น โรครูมาตอยด์, โรคเก๊าท์ เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่า “เข่าเสื่อม”

คนไข้โรคข้อเข่าเสื่อม จะมีอาการที่เกิดจากลักษณะกายภาพของข้อผิดปกติเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ หรือความเสื่อมที่เพิ่มมากขึ้น และบางครั้งจะเกิดอาการอักเสบเกิดขึ้น 

การอักเสบมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราวในข้อเข่าที่เสื่อม เกิดขึ้นเมื่อมีการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นกับข้อเข่าที่เสื่อม เช่น เมื่อคนไข้มีการใช้งานเข่ามากๆ ไม่ว่าจะเป็น ยืน เดิน ขึ้น-ลงบันได หรือ ไปใช้งานกิจกรรมทำร้ายเข่าต่างๆ  สำหรับคนไข้ที่มีอาการของโรคมากขึ้น การอักเสบอาจจะเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือ เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้คนไข้มีการใช้งานข้อเข่าที่อาการแย่ลงเรื่อยๆ ได้

อาการเข่าเสื่อม

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมแบ่งได้ 2 กลุ่มอาการ ได้แก่

  1. อาการที่เกิดจากลักษณะทางกายภาพที่ผิดปกติไปของข้อเข่าที่เสื่อม จะส่งผลให้เกิดการผิดรูปของข้อเข่า (โก่งเข้าใน-ออกนอก) หรือ ส่งผลต่อการใช้งาน การขยับเคลื่อนไหวข้อเข่า อาการเหล่านี้ ได้แก่
    • ข้อเข่าที่เสื่อมช่องข้อแคบลงจากเนื้อกระดูกอ่อนที่หายไป ซึ่งมักจะเกิดกับช่องข้อด้านในก่อน การที่ช่องข้อแคบลงเฉพาะด้านใน ทำให้เกิดการเอียงของข้อเข่า เกิดเป็นเข่าโก่งงอเกิดขึ้น
    • เกิดกระดูกงอกขอบผิวข้อทำให้ข้อติดขัด เวลาเคลื่อนไหวมีเสียงดังคล้ายมีกรวดทรายหยาบอยู่ในข้อ หรือ ทำให้งอ-เหยียดเข่าได้ไม่ปกติ ติดขัดได้ 
    • อาการที่เกิดกับกล้ามเนื้อขยับข้อเข่า ทำให้รู้สึกขาหนัก เมื่อยล้า หรือ ขาไม่มีแรง เกิดจากการที่ข้อเข่าสีกหรอ ขุรขระ ไม่เรียบ ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ขยับหมุนข้อต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อเคลื่อนไหวข้อเข่า และทำกิจกรรมต่างๆ
  2. อาการที่เกิดจากการอักเสบข้อเข่า การอักเสบ เป็นกระบวนการที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่ทําให้เนื้อเยื่อของร่างกายได้รับบาดเจ็บ (ในข้อเข่าเสื่อมคือกระดูกอ่อนที่สึกหรอ เสียหายไป) เกิดการเข้ามาในบริเวณอักเสบของเซลล์เม็ดเลือดขาว และการเพิ่มขึ้นของสารอักเสบในบริเวณอักเสบ อาการของการอักเสบข้อเข่า ที่เกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ 
    • อาการปวดเข่า เกิดจากสารอักเสบที่เพิ่มขึ้นในบริเวณอักเสบ มักเป็นอาการสำคัญเริ่มแรก จะมีอาการปวด เจ็บ ขัด เสียว แสบ  รู้สึกได้บริเวณรอบๆข้อ โดยเฉพาะด้านในของข้อเข่า อาจมีอาการปวดด้านหน้า หรือ ด้านหลังของข้อเข่าร่วมด้วยตามระดับความรุนแรงของโรค เมื่อเป็นมากจะปวดเข่าตลอดเวลาขยับเคลื่อนไหว ยืน เดิน ซึ่งจะทำให้คนไข้ใช้งานข้อเข่าได้ ไม่คล่องเหมือนเดิม
    • อาการข้อเข่า บวม แดง ร้อน เกิดจากการเพิ่มขึ้นของเลือด และของเหลวในบริเวณอักเสบ

การวินิจฉัยภาวะข้อเข่าเสื่อม

  • ซักประวัติ: อาศัยการซักประวัติการตรวจร่างกายโดยผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมักมีอาการและอาการแสดงดังกล่าว ทำให้สามารถวินิฉัยโรคได้โดยไม่จำเป็นต้องต้องถ่ายภาพเอกซเรย์ การถ่ายภาพเอกซเรย์ของข้อเข่ามีความสำคัญเพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรคและพิจารณาแนวทางในการรักษาต่อไป
  • ภาพเอ็กซเรย์: การเอ็กซเรย์ทำในท่ายืนลงน้ำหนักที่ขาทั้งสองข้าง จะเห็นความผิดปกติ เช่นช่องของข้อเข่าแคบลงมีกระดูกงอกตามขอบของกระดูกเข่าและกระดูกสะบ้า ในรายที่เป็นมากจะพบการโก่งงอผิดรูปของข้อเข่

แนวทางการรักษาเบื้องต้น หรือในกลุ่มที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมไม่มากนัก

กลุ่มที่ยังมีอาการข้อเข่าเสื่อมในระดับเริ่มแรก รวมถึงการป้องกันสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคนี้ สิ่งที่ควรปฏิบัติมีแนวทางง่ายๆ 3 ข้อ คือ

  1. ควบคุมน้ำหนักตัว โดยในคนที่มีค่าน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน ก็ควรที่จะทำการลดน้ำหนัก
    • พบว่าการลดน้ำหนักลง 5% จะเริ่มเห็นผล ช่วยให้อาการปวดข้อเข่าดีขึ้นได้
    • สำหรับผู้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้ แม้พยายามเต็มที่แล้ว ก็ควรระมัดระวังอย่าให้น้ำหนักตัวเพิ่ม เพราะยิ่งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเป็นภาระต่อหัวเข่าเรามากขึ้นเท่านั้น
  2. หลีกเลี่ยงการใช้งานหัวเข่าที่ไม่เหมาะสม
    • ไม่ควรยืน หรือนั่งอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ
    • ไม่ควรอยู่ในท่าที่มีการงอเข่าเกินกว่ามุมฉาก (งอมากกว่า 90 องศา) เช่น การนั่งคู้เข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ หรือนั่งยองๆ เพราะการงอเข่า เป็นท่าที่ทำให้แรงดันในหัวเข่ามากขึ้น และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผิวข้อกระดูกอ่อนมากขึ้น
    • ไม่ควรหิ้ว หรือแบกของหนักๆ เป็นเวลานาน เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มน้ำหนักและภาระต่อข้อเข่า
  3. เสริมสร้าง และฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวเข่า
    • คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการเดิน การเคลื่อนไหวทำงาน เป็นการออกกำลังกายอยู่แล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ต้องเรียกว่าเป็นการใช้งานเสียมากกว่า ดังนั้นเมื่อมีการใช้งานมาก ก็อาจทำให้เกิดความเสื่อมสภาพได้มากเช่นกัน
    • การบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่านั้น ไม่ลำบากยุ่งยาก และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ขอเพียงแค่ใส่ใจ และสละเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
    • วิธีการคือ ให้นั่งบนเก้าอี้หลังพิงพนักยกเท้าขึ้นมาและเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาโดยการกระดกข้อเท้าให้นับ 5-10 วินาทีทำข้างละ 15-30 ครั้งอย่างน้อยวันละ 3 เวลา ยิ่งสามารถทำได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มความแข็งแรงกับกล้ามเนื้อรอบข้อเข่ามากขึ้นเท่านั้น

การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด

ในกรณีที่อาการข้อเข่าเสื่อมอยู่ในระยะรุนแรง การรักษาด้วยยาหรือการรักษาด้วยวิธีประคับประคองแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ตรงจุด ลดอาการปวดเข่า ทั้งยังทำให้คนไข้กลับมาเดิน ยืน หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

สำหรับคนที่อาการของโรคอยู่ในระยะเริ่มต้น การดูแลตัวเองร่วมด้วยการบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่า ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้มาก หรือหายได้ในบางรายที่อายุยังไม่มากนัก ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรง และไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการเบื้องต้น จำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับรับคำแนะนำการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งมีวิธีการรักษาหลากหลาย ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้แต่ละคน

การรักษาข้อเข่าเสื่อม แบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด แนวทางไหนเหมาะกับใคร

การรักษาข้อเข่าเสื่อมนับเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ เพราะอาการบาดเจ็บของแต่ละคนแตกต่างกันไป ทั้งอยู่บนความรุนแรงที่ไม่เหมือนกัน ในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจแนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อม แบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ว่าแนวทางไหนเหมาะกับใคร

แนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด 

การรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด เหมาะกับคนที่อาการของโรคอยู่ในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง อาการไม่รุนแรง ยังไม่เจ็บปวดจากการเคลื่อนไหว หรือการใช้งานเข่า จนกระทบกระเทือนการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก 

การดูแลตัวเองร่วมด้วยการรักษา จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้มาก หรือหายได้ในรายที่อายุยังไม่มากนัก ซึ่งแนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด จะแบ่งออกเป็นการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต กายภาพบำบัด ออกกำลังกาย และการใช้ยาร่วมด้วย

1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่การปรับพฤติกรรมช่วยได้มากสำหรับการรักษาข้อเข่าเสื่อม โดยหลักๆ พฤติกรรมที่ควรปรับเปลี่ยนคือ

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พบว่ายิ่งน้ำหนักตัวน้อยลง 5% จากช่วงที่มีอาการปวดเข่า ก็จะช่วยให้อาการปวดเข่าดีขึ้นได้ 
  • หลีกเลี่ยงการใช้งานหัวเข่าที่หนักหนาเกินไป เช่น ไม่นั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ เพราะการงอเข่าจะทำให้แรงดันในหัวเข่ามากขึ้น และเกิดความเสียหายต่อผิวข้อกระดูกอ่อนมากขึ้นด้วย
  • ไม่ยกของหนัก หรือหิ้วของหนักๆ เป็นเวลานาน เพราะการเพิ่มน้ำหนักจะส่งผลต่อหัวเข่าที่ต้องรับน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย
การปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยในการรักษาข้อเข่าเสื่อม

2. กายภาพบำบัด และการออกกำลังกาย

การกายภาพบำบัดและออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างและฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวเข่า 

  • การออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่า คือการพุ่งประเด็นไปที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า(Quadriceps) และต้นขาด้านหลัง (Hamstring) ซึ่งจะช่วยให้การพยุงและรับน้ำหนักตัว แบ่งเบาน้ำหนักที่ถ่ายลงมาที่ข้อเข่า พบว่าการออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นขา ช่วยให้อาการปวดหัวเข่าดีขึ้นได้ชัดเจน และป้องกันอาการปวดเข่าในระยะยาวอีกด้วย
  • สำหรับผู้สูงอายุ การออกกำลังกายที่ง่ายและเหมาะสมที่สุดคือการเดินพื้นราบ ในความเร็วและระยะเวลาที่ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บเข่า อาจเดินบนเครื่องเดินออกกำลังกาย หรือ เดินบนพื้นปกติก็ได้ และอาจต้องสังเกตว่าถ้าเดินได้ระยะเวลาเท่าใดแล้วเริ่มมีอาการเจ็บเข่า แสดงว่าเป็นระยะเวลาที่มากเกินไป ซึ่งควรปรับลดระยะเวลาเดินให้น้อยลง หรือ เปลี่ยนไปเดินบนพื้นหญ้าที่อ่อนนุ่มขึ้นเพื่อช่วยลดแรงกระแทกต่อข้อเข่า
การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการใช้ยา

3. การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการใช้ยา

หากการรักษาทั่วไปไม่สามารถลดอาการปวดข้อเข่า จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วยในการรักษา ซึ่งการใช้ยาควรอยู่ในดุลยพินิจและการดูแลของแพทย์ 

  • ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ เป็นยาที่ใช้รักษาตามอาการปวดที่เกิดขึ้น สามารถลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ข้อเข่ากำลังมีการอักเสบ 

อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ลดการอักเสบแบบชั่วครั้งชั่วคราว พอหมดฤทธิ์ยาอาการปวดก็จะกลับมาได้อีก เนื่องจากยากลุ่มนี้ไม่ได้รักษาความเสื่อมของข้อ แต่เป็นการรักษาการปวดอักเสบที่เกิดจากข้อเสื่อมเท่านั้น 

การใช้ยาในกลุ่มนี้จึงแนะนำให้ใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการและใช้เพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น ควรควบคู่ไปกับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การลดน้ำหนัก หรือปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันที่ทำร้ายเข่าให้ลดน้อยลง

ที่สำคัญการใช้ยาลดอักเสบต้องระมัดระวังอย่างมาก เนี่องจากอาจก่อให้เกิดผลเสียได้ เมื่อใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้น การทำงานของไตแย่ลง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ เป็นต้น

  • ยาเสตียรอยด์ (Steroid) เป็นยาที่นิยมใช้ฉีดลดการอักเสบในข้อเข่า เพราะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ลดอาการอักเสบได้ดีมาก แต่ก็มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่นอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยปกติแพทย์จะเลือกใช้ยากับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช้ยาฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าต่อเนื่องซ้ำหลายๆ ครั้ง หรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • กลุ่มยารักษาอาการข้อเสื่อมแบบใช้ต่อเนื่อง (SYSADOA) เป็นยาที่ช่วยลดอาการปวด อักเสบจากข้อเสื่อม เมื่อมีการใช้อย่างต่อเนื่อง มักเริ่มแสดงผลที่ 3-4 สัปดาห์หลังการใช้ยา เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้าๆ แต่เมื่อใช้ในระยะเวลาที่เหมาะสมจะควบคุมอาการปวดได้เป็นระยะเวลานาน 

โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ต่อเนื่องประมาณ 3-6 เดือน การใช้ยาในกลุ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อลดปวด และลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด แก้อักเสบลง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่ายาช่วยชะลอการสึกหรอบางลงของกระดูกอ่อนผิวข้อได้เล็กน้อย ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ยากลูโคซามีน (Glucosamine) ยาไดอะเซรีน (Diacerein) หรือ ยาคอนดรอยติน (Chondroitin) เป็นต้น

การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม
  • การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม (Visco Supplementation) เป็นยากลุ่มที่ใช้ฉีดเข้าไปในข้อโดยตรง ออกฤทธิ์เฉพาะที่ มีเป้าหมายเพื่อเข้าไปทดแทนน้ำเลี้ยงข้อที่น้อยลงจากโรคข้อเสื่อม ช่วยลดการเสียดสีภายในข้อและยังช่วยลดการอักเสบได้ในระยะเวลานาน อาจช่วยลดอาการปวดลดการใช้ยาแก้ปวดได้นานหลายเดือน

ยากลุ่มนี้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินยาแก้ปวดอักเสบได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกิดขึ้น หรือมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถกินยาได้ ซึ่งยาฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมมีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่จะฉีดยาเข้าช่องข้อสัปดาห์ละ 1 เข็ม โดยมีชนิดยาที่ฉีดตั้งแต่ 1 – 5 เข็ม 

  • อาหารเสริม คอลลาเจน สารเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ใช้เสริมในการรักษาข้อเสื่อม ไม่ได้ถือเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโดยตรง สามารถหาซื้อได้ทั่วไป มีหลากหลายรูปแบบหลายชนิด อาจมากกว่าร้อยแบบที่อยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน 

สารเหล่านี้ออกฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดการอักเสบได้ และมักมีการโฆษณาว่าสามารถป้องกันและรักษาข้อเสื่อมได้ด้วย อย่างไรก็ตามหลักฐานยืนยันจากการศึกษาของสารในกลุ่มนี้ยังมีอยู่น้อย ผลการศึกษามักจะไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะขึ้นทะเบียนเป็นยาที่ใช้ในการรักษาได้ หากคนไข้จะใช้เองจึงแนะนำให้ใช้โดยการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน 

แนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด

แนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่รักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น รวมทั้งผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรง เจ็บปวดจนมีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ปวดมากเวลายืนเดิน ข้อเข่าหลวม หรือมองเห็นความโก่งงอของเข่าชัดเจน เป็นต้น

การผ่าตัดเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อมแบ่งได้เป็นสองแนวทางใหญ่ๆ คือการผ่าตัดจัดแนวกระดูกแก้ความโก่งงอของเข่า และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

  1. การผ่าตัดจัดแนวกระดูกแก้ความโก่งงอของเข่า วิธีนี้ต้องมีการตัดกระดูกทำให้เกิดรอยหักของกระดูกเกิดขึ้น แล้วแพทย์จะทำการยึดตรึงกระดูกไว้ด้วยโลหะยึดดามกระดูก 

การผ่าตัดวิธีนี้เป็นการยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าเดิมได้ต่อไปอีก แต่ต้องมีการดูแลหลังการผ่าตัดให้กระดูกติดดีก่อน จึงจะสามารถใช้งานหัวเข่าได้อย่างเต็มที่ เหมาะสำหรับคนที่อายุน้อย จำเป็นต้องใช้หัวเข่าในการเดินยืนทำงานค่อนข้างมาก

  1. การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากในการลดอาการปวดข้อ ข้อเข่าโก่งผิดรูปจากโรคข้อเข่าเสื่อม ช่วยคืนคุณภาพการใช้งานข้อเข่าดี และฟื้นคืนคุณภาพชีวิตที่ให้แก่คนไข้โรคข้อเสื่อมที่มีอาการรุนแรง และรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วยังมีอาการเจ็บปวดที่หนักหนากับการใช้ชีวิตประจำวัน

การผ่าตัดใส่ข้อเทียม คือการใส่ข้อเข่าเทียมครอบฝังแทนที่ผิวข้อเดิมที่เสื่อม สึกหรอเดิม เนื่องจากประสบการณ์การผ่าตัดของทีมแพทย์ kdms ร่วมกับความก้าวหน้าของเครื่องมือผ่าตัด และพัฒนาการของข้อเทียม ส่งผลให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลาสั้นลงมาก การตั้งแนวข้อและใส่ข้อแม่นยำมากขึ้น การฟื้นตัวรวดเร็วและเจ็บปวดน้อยลงอีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี การรักษาข้อเข่าเสื่อมนั้นไม่ได้เป็นคำตอบที่มีเพียงแค่ถูกหรือผิด เพราะอาการของแต่ละคน รวมถึงความจำเป็นในการใช้ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไป การปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านในการนำไปตัดสินใจเป็นสิ่งที่ผู้เจ็บป่วยควรร่วมปรึกษาแพทย์ในการวางแผนการรักษา เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุดสำหรับตัวคนไข้เอง

โรคข้อเข่าเสื่อม กระทบอะไรกับชีวิตประจำวันบ้าง?

ออกกำลังกายไม่ได้ จนกลายเป็นยิ่งทำลายสุขภาพตัวเอง

หนึ่งในกิจกรรมโปรดของผู้สูงวัยทั้งหลาย คือการได้ไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบคนเดียว หรือแบบรวมกลุ่มกันกับเพื่อน ๆ ผู้สูงอายุ ได้เดินออกกำลังกาย รำมวยจีน เต้นแอโรบิก หรือรำไทเก็ก ฯลฯ แต่เมื่อข้อเข่าเกิดเสื่อมจนมีอาการปวดรุนแรงแล้ว กิจกรรมการออกกำลังกายเหล่านี้ก็จะไม่สามารถทำได้อีก หรือทำได้เพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ เพราะแม้บางการออกกำลังอาจไม่ได้มีท่ายากมาก เป็นแค่การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ แต่ก็จะมีท่าย่อ ท่ายอง ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเข่า ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างที่เคยเป็น หรือทำได้เพียงแค่ 10 นาที ก็เจ็บปวดจนต้องถอดใจยอมแพ้ ซึ่งผลที่ตามต่อมาก็คือ เมื่อไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย น้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เพิ่มความรุนแรงของอาการปวดข้อเข่าให้มากขึ้นได้

เข้าวัดฟังเทศน์ ทำบุญลำบาก ถูกพรากความสุขสงบทางจิตใจ

วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับพุทธศาสนาตั้งแต่แรกเกิด และยิ่งในช่วงบั้นปลายของชีวิต การเข้าวัดฟังธรรม ได้ทำบุญนั้น ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสงบ และความสุขอิ่มเอมอย่างมาก หากแต่เมื่อข้อเข่าเสื่อม กิจกรรมที่มีลักษณะเป็น กิจกรรมที่จะต้องอยู่กับพื้น เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ สวดมนต์ ฟังเทศน์ ฯลฯ จะไม่สามารถทำได้สะดวก คือ ไม่ได้นั่งลงแล้วเจ็บ แต่จะเจ็บปวดจนไม่สามารถที่จะล้มตัวลงนั่งกับพื้นเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวัดได้เลย จึงทำให้เกิดเป็นความทุกข์ที่กัดกินใจ เมื่อไม่สามารถไปวัด ทำบุญได้เหมือนที่เคย

ต้องตัดใจงดเดินทาง โดดเดี่ยวอ้างว้างที่ต้องตัดขาดกับครอบครัว

 

เป้าหมายในบั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุทุกคน ล้วนมีเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวรวมอยู่ด้วยเสมอ เพราะทุ่มเททำงานมาทั้งชีวิต ก็เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายสุดท้ายได้อย่างอิสระที่สุด แต่ความเจ็บปวดจากอาการข้อเข่าเสื่อม ก็จะทำตัดโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวออกไป เพราะไม่สามารถเดินเที่ยวได้ เดินได้ไม่นานก็ต้องพัก ไม่สามารถท่องเที่ยวธรรมชาติ เดินขึ้นทางลาดชัน เดินป่า หรือต้องขึ้นบันไดเยอะ ๆ ซึ่งถ้าไปกับทัวร์ก็จะหมดสนุก ส่วนไปกับครอบครัว เพื่อนฝูงก็จะไม่สะดวก รู้สึกเป็นภาระ ทำให้ต้องตัดขาดตัวเอง ไม่ไปไหนกับเพื่อนและครอบครัว กลายเป็นความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว และโหยหาชีวิตที่สามารถเดินเหินได้อย่างที่ใจต้องการ

Q&A

Q: สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม มีอะไรบ้าง ?

1. อายุที่มากขึ้น
2. น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ (ภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน)
3. การใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก ต่อเนื่องยาวนาน เช่น งานที่ต้องยกของหนักบ่อยๆ, งานที่ต้องมีกิจกรรมการนั่งบนพื้น พับเพียบ นั่งยอง ย่อเข่าบ่อยๆ
4. อุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นบริเวณข้อเข่า เช่น กระดูกหัก, กระดูกสะบ้าเข่าหัก, การฉีดขาดของเอ็นไขว้หน้า หรือหมอนรองกระดูกเข่า
5. โรคข้ออักเสบเรื้อรังต่างๆ เช่น โรครูมาตอยด์, โรคเก๊าท์ เป็นต้น

Q: แนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด มีแบบไหนบ้าง ?

1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
2. กายภาพบำบัด และการออกกำลังกาย
3. การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการใช้ยา
4. การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม
5. อาหารเสริม คอลลาเจน

ขอบคุณแหล่งที่มา https://kdmshospital.com/article/knee-ostoearthritis/

Categories
บทความ

ดูแลรักษาด้วยตนเองรอบด้าน ในเรื่องข้อเข่าเสื่อม

ดูแลรักษาด้วยตนเองรอบด้าน ในเรื่องข้อเข่าเสื่อม

  1. ลดน้ำหนัก
    เพราะเมื่อเดินจะมีแรงกดลงที่เข่าประมาณ 5 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ถ้า วิ่ง จะมีแรงกดลงที่เข่า เพิ่มขึ้นเป็น 7 – 10 เท่าของน้ำหนักตัว ( การถีบจักรยาน เข่าจะรับแรงกดเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น ) ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ เข่าก็จะรับแรงกดน้อยลง ทำให้เข่าเสื่อมช้าลงและอาการปวดก็จะลดลงด้วย
  2. ท่านั่ง
    ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี ไม่ควร นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือ นั่งราบบนพื้น เพราะจะทำให้ผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วมากขึ้น
  3. เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก
    หรือ นั่งบนเก้าอี้สามขาที่มี รู ตรงกลาง วางไว้เหนือคอห่านควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน ไม่ควรนั่งยอง ๆ เพราะผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขาถูกกดทับ ทำให้เลือดไปเลี้ยงขาได้ไม่ดี
  4. นอนบนเตียง ซึ่งมีความสูงระดับเข่า
    เมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี ไม่ควรนอนราบบนพื้นเพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น ข้อก็จะเสื่อมเร็วขึ้น
  5. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได
    ขณะขึ้นลงบันได จะมีแรงกดที่เข่าประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว
  6. หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนาน ๆ
    ถ้าจำเป็นก็ให้ขยับเปลี่ยนท่า หรือ เหยียด-งอข้อเข่า บ่อย ๆ
  7. การยืน
    ควรยืนตรง ขากางออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน ไม่ควร ยืนเอียงลงน้ำหนักตัวบนขาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เข่าที่รับน้ำหนักมากกว่าเกิดอาการปวดได้
  8. การเดิน
    ควรเดินบนพื้นราบ ไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียงที่ชันมาก หรือ ทางเดินที่ขรุขระ เพราะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น และ อาจจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย ควรใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือ ไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และ มีขนาดกระชับพอดี
  9. ใช้ไม้เท้า
    โดยเฉพาะ ผู้ที่ปวดมากหรือข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยรับน้ำหนัก และ ช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม วิธีถือไม้เท้า ในผู้ที่ปวดเข่ามากข้างเดียว ให้ถือในด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด แต่ถ้าปวดทั้งสองข้างให้ถือในข้างที่ถนัด
  10. บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า
    ให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวและการทรงตัวดีขึ้น
  11. การออกกำลังกายวิธีอื่น
    ควรออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักมากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น ไม่ ควร ออกกำลังกายที่ต้องมีการลงน้ำหนักที่เข่าเพิ่มขึ้น เช่น วิ่งเร็ว ๆ เต้นแอโรบิก ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดการฉีกขาดได้และมีโอกาส เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้
  12. ถ้ามีอาการปวด
    ให้พักการใช้ข้อเข่า และ ประคบด้วยความเย็น/ความร้อน หรือ ใช้ยานวดร่วมด้วยก็ได้

ขอบคุณแหล่งที่มา https://www.brandsworld.co.th/article-listing/osteoarthritis.html

Categories
บทความ

โรคข้อเข่าเสื่อม ห้ามไม่ได้ แต่ชะลอได้

โรคข้อเข่าเสื่อม ห้ามไม่ได้ แต่ชะลอได้

โรคกระดูกและข้อ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ โดยข้อที่เสื่อมได้มากที่สุดก็คือข้อเข่า เพราะมีขนาดใหญ่และอยู่ในตำแหน่งที่รับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง ทั้งยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้เสื่อมได้ง่าย อาการข้อเข่าเสื่อมส่งผลเสียหลายอย่าง ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวันที่ยากลำบากไปจนถึงภาวะทุพพลภาพ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หากอาการรุนแรงจนไม่สามารถใช้งานข้อเข่าได้ตามปกติ

สาเหตุของข้อเข่าเสื่อม

มีการทำลายกระดูกอ่อนในผิวข้อเรื่อย ๆ กระทั่งเข้าไปสู่ตัวกระดูกของข้อเข่า ทำเกิดอาการเสื่อม และมีอาการแสดงออกมาตั้งแต่อาการปวดไปจนถึงการใช้งานข้อเข่าได้ยากลำบาก

สาเหตุปฐมภูมิ
  • การใช้งานข้อเข่าค่อนข้างหนัก
  • อาชีพของผู้ป่วยที่ต้องใช้ข้อเข่ามาก
  • พฤติกรรมการใช้งานข้อเข่าในความถี่สูง เช่น นั่งยอง ๆ บ่อย นั่งพับเพียบบ่อย ขึ้นลงที่สูงบ่อย เป็นต้น
  • น้ำหนักตัวมาก
สาเหตุทุติยภูมิ
  • เคยมีอุบัติเหตุ
  • เคยมีภาวะติดเชื้อในข้อเข่า
  • เคยอักเสบจากโรครูมาตอยด์ โรคเกาต์
ความเสื่อมตามอายุ
  • เริ่มเสื่อมตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • อายุ 60 ปีขึ้นไป อัตราความเสื่อมเพิ่มเป็นร้อยละ 40
  • อายุ 75 ปีขึ้นไป อัตราความเสื่อมเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ขึ้นไป
  • ความเสื่อมขึ้นอยู่กับการใช้งานร่วมด้วย เปรียบเทียบในคนอายุเท่ากัน แต่ถ้าหากมีการใช้งานข้อเข่ามากกว่าก็เกิดอาการเสื่อมมากกว่า รวมถึงถ้าหากน้ำหนักมากกว่าในคนอายุเท่ากัน ก็อาจมีอัตราการเสื่อมของข้อเข่าที่มากกว่าด้วย
ความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อม
  • ระยะเริ่มต้น สามารถทำกิจวัตรได้ตามปกติ แต่ถ้าใช้งานหนักขึ้นเล็กน้อยจะเริ่มมีอาการปวด
  • ระยะที่สอง เริ่มทำงานหนักไม่ได้
  • ระยะที่สาม เริ่มทำกิจวัตรประจำวันปกติไม่ได้
  • ระยะที่สี่ แทบทำอะไรไม่ได้เลย รู้สึกปวดตลอดเวลา หรือต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น เครื่องช่วยพยุง
ชะลออาหารข้อเข่าเสื่อมได้โดย
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ปรับอิริยาบถ (นั่งยอง ๆ น้อยลง หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ/ขัดสามธิ ขึ้นลงที่สูงให้น้อยลง ฯลฯ)
  • สร้างกล้ามเนื้อต้นขาหรือเส้นเอ็นรอบเข่าให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย
  • ที่สำคัญหากเริ่มมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้

ข้อมูลจาก
ศ.คลินิก นพ.วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
เผยแพร่: ตุลาคม 2561

Categories
บทความ

โรคกระดูกพรุน…ภัยเงียบที่ป้องกันได้

โรคกระดูกพรุน…ภัยเงียบที่ป้องกันได้

กระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมหรือบางลงของกระดูก เนื่องจากสูญเสียแคลเซียม ส่งผลให้กระดูกเปราะหรือหักได้ง่าย โรคนี้มักไม่แสดงอาการหรือก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ นอกจากกระดูกแตกหรือหัก ซึ่งพบได้บ่อยในบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และกระดูกข้อมือ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ได้แก่ ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ ลดน้ำหนักผิดวิธี ใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาด และขาดวิตามิน ดี หรือแคลเซียม

 

 

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

  • ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี กระดูกจะบางลงทุก 1-3% ทุกปี
  • สูญเสียฮอร์โมนเพศหญิงเนื่องจากหมดประจำเดือน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของการเกิดโรคกระดูกพรุน
  • สตรีหมดประจำเดือนเร็วหรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทิ้งก่อนอายุ 45 ปี

ปัจจัยเสี่ยงร่วมที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

  • พันธุกรรม
  • สตรีวัยหมดประจำเดือน
  • คนผิวขาวและคนเอเชีย
  • ขาดวิตามินดีและแคลเซียม
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ
  • สูบบุหรี่
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากโหมออกกำลังกายหรืออดอาหาร
  • ใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาด
  • ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น โรคต่อมไทรอยด์
  • เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคทางเดินอาหารผิดปกติ

‘กระดูกพรุน’ ถือเป็นภัยเงียบที่อันตราย เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการเจ็บปวดใดๆ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อมีอาการกระดูกหักหรือแตกแล้ว โดยส่วนใหญ่จะพบในสตรีวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากสูญเสียฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งหากมีภาวะกระดูกพรุนเป็นเวลานานโดยไม่รีบรักษา อาจทำให้กระดูกสันหลังยุบตัวหรือเกิดหลังค่อมได้

การรักษาโรคกระดูกพรุน

  • ฮอร์โมนเสริม รับประทานเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน
  • รักษาด้วยยา รับประทานยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนโดยตรง ทำให้ลดการทำลายของกระดูก เพิ่มการสร้างทำให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น
  • รักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกหัก เช่น การฉีดซีเมนต์ที่กระดูกสันหลัง ในรายที่กระดูกสันหลังหัก ยุบ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในรายที่กระดูกสะโพกหัก

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะกลางแจ้งตอนที่มีแดดอ่อน เช่น เวลาเช้า หรือเย็น
  • เมื่อมีความเจ็บป่วยไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรรีบทำกายภาพบำบัด หรือเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เร็วที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายจะเอื้ออำนวย
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลากระป๋อง ซึ่งสามารถรับประทานกระดูกปลาได้ หรือดื่มนมพร่องไขมันเนย ผักผลไม้ เป็นต้น
  • งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรซื้อยารับประทาน เช่น ยาลูกกลอน เพราะมักจะมีสารเสตียรอยด์ผสมอยู่ ทำให้กระดูกพรุนได้โดยไม่รู้ตัว
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์

ขอบคุณแหล่งที่มา https://thainakarin.co.th/osteoporosis-ortho-tnh/

Categories
บทความ

การดูแลสุขภาพของผู้เป็นโรคเบาหวานเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

การดูแลสุขภาพของผู้เป็นโรคเบาหวานเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

     โรคเบาหวานและโรคกระดูกพรุนมีความสัมพันธ์กับอายุและวิถีการดำเนินชีวิต และความชุกของการเกิดโรคทั้งสองในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โรคเบาหวานก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายได้หลายระบบ รวมทั้งสุขภาพกระดูก คือ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนได้ โดยผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีความเสี่ยงสูงต่อการมีมวลกระดูกน้อยกว่าปกติร่วมกับมีความแข็งแรงของกระดูกลดลง ส่วนการศึกษาผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุผลกระทบของโรคเบาหวานต่อมวลกระดูกได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นมีผลทำให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกระดูกลดลง ดังนั้นผู้เป็นโรคเบาหวานจึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าบุคคลทั่วไป บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลกระทบของโรคเบาหวานที่มีต่อปริมาณมวลกระดูกและคุณภาพของกระดูก และการดูแลสุขภาพของผู้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมการสร้างและรักษามวลกระดูก การออกกำลังกาย และการเฝ้าระวังภาวะกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุน ความรู้ดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพกระดูกในผู้เป็นเบาหวานมากขึ้น

 

ขอบคุณแหล่งที่มา https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Jolbcnm/article/view/257602

Categories
บทความ

ทริกง่ายๆ ของการดูแลกระดูกให้อยู่ไปนานๆ

ยืดอายุกระดูกให้อยู่กับเราไปนานๆ

          กระดูกเป็นอวัยวะภายในร่างกายที่สำคัญต่อร่างกาย มีความแข็งแรงรับน้ำหนักและรับรองการเคลื่อนไหวของเรา อายุการใช้งานที่ยาวนานตลอดชีวิตของเรานั้น หากเราไม่รักษาสุขภาพกระดูกให้ดี ก็วันเสื่อมถอยได้



อยากให้กระดูกอยู่กับเราไปนาน ๆ ต้อง ลด เลิก พฤติกรรมเหล่านี้ !

  1.  การนั่งผิดสุขลักษณะ อาทิ การนั่งไขว่ห้าง นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้กระดูกของเรารับน้ำหนักเป็นเวลานาน
  2.  การนอนคดตัว เก็บแขน หดขา งอเข่า บนที่นอนที่มีความนิ่มเกินไป จะทำให้กระดูกและข้อของเราผิดรูปเป็นเวลานาน บางครั้งอาจจะเกือบทั้งคืน บางครั้งที่เราตื่นมาพบอาการปวดเมื่อยตามร่างกายอาจจะเป็นเพราะพฤติกรรมการนอนแบบนี้ก็ได้นะ
  3.  ใส่ส้นสูงเป็นเวลานาน ข้อนี้หลายคนที่ชื่นชอบการสวมใส่รองเท้าส้นสูงอาจจะต้องคิดหนัก แต่การยืนบนส้นสูงเป็นเวลานานหรือทั้งวันนั้น ทำให้ข้อเข่าและกระดูกสันหลังของเราทำงานหนักมากเกินปกติ หากจำเป็นต้องสวมส้นสูงจริง ๆ ควรมีเวลาพักเท้าบ้าง ทุก 1 ชั่วโมง
  4.  การทานเครื่องดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะน้ำตาลในเครื่องดื่มต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวที่คอยกัดกร่อนแคลเซียมของกระดูก ทำให้กระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควรได้
  5.  การเล่นกีฬา แม้ว่าการเล่นกีฬาจะเสริมสร้างสุขภาพที่ดีนั้นเป็นข้อเม็จจริง แต่อุบัติเหตุที่เกิดจากการเล่นกีฬา หรือการเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงของกระดูกต้องรับน้ำหนัก รับแรงกระแทกอยู่บ่อย ๆ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน
  6.  น้ำหนักตัวที่มากเกินไป อย่างที่กล่าวไปว่ากระดูกของเรานั้นรองรับน้ำหนักของร่างกาย ทำให้เกิดกระดูกได้รับแรงกดทับที่มากขึ้นตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยให้กระดูกของเราเสื่อมเร็วขึ้นด้วย

cr. https://www.paolohospital.com/th-TH/rangsit/Article/Details/บทความกระดูกและข้อ/ทริกง่ายๆ-ของการดูแลกระดูกให้อยู่ไปนานๆ-

CR : https://www.kdmshospital.com/article/howto-take-care-of-bone-and-joint/

Categories
บทความ

ดูแลกระดูก และข้ออย่างไร? ให้ดีต่อใจ ในทุก Generation

หากเปรียบร่างกายคือรถยนต์ กระดูกก็เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนรถไปยังเป้าหมายที่เราต้องการ เมื่อเราใช้งานรถไประยะหนึ่ง สิ่งที่ควรทำอยู่เป็นประจำคือการตรวจเช็กสภาพรถ เพื่อตรวจสอบว่ามีชิ้นส่วนไหนของรถที่เกิดความเสียหายหรือหมดอายุการใช้งาน เพื่อทำการปรับเปลี่ยนและซ่อมแซมได้อย่างทันท่วงที

กระดูกของเราก็เช่นกัน การหมั่นดูแลรักษาและตรวจเช็กสภาพอยู่เสมอ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่อเช็กดูว่ากระดูกและข้อบริเวณส่วนไหนของร่างกายที่เกิดการผิดปกติ และในปัจจุบันมิใช่เพียงแค่วัยสูงอายุเท่านั้น วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวหลายๆท่าน ประสบพบเจอกับปัญหาในเรื่องของกระดูก ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดหลังเรื้อรัง ออฟฟิศซินโดรม หรืออุบัติเหตุที่ส่งผลโดยตรงต่อกระดูก ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นล้วนมาจากการใช้งานอย่างหนักและสะสมมาเป็นเวลาหลายปี การตรวจเช็กกระดูกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

การดูแลรักษากระดูกในช่วงวัยเด็ก

วัยเด็ก คือ วัยแห่งความสดใส เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และจดจำ ในส่วนของการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย เป็นช่วงวัยที่อวัยวะในร่างกายส่วนต่างๆ พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของกระดูกและกล้ามเนื้อ วัยเด็กเป็นวัยที่ใช้กล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ เด็กที่มีกระดูกแข็งแรงจึงเปรียบเสมือนการมีรากฐานของร่างกายที่มั่นคงและส่งผลดีในอนาคต

นอกจากนี้การดูแลเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อในวัยเด็กสามารถทำได้หลายวิธี โดยเฉพาะวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และอุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินดี ที่มาจากอาหารประเภท นม โยเกิร์ต ผลไม้ ชีส เนื้อปลา ฯลฯ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง

แคลเซียมคือแร่ธาตุที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน พบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วย นม ถั่ว เมล็ดพืชบางชนิด และผักใบเขียว ใน 2 – 3 มื้อของแต่ละวัน

การรับประทานวิตามินดี

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเด็กที่แพ้อาหาร การวิตามินโดยตรงจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ปกครอง โดยเฉพาะวิตามินดี 3 ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม และมีความสำคัญอย่างมากในวัยเด็ก

การส่งเสริมให้เด็ก ๆ ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อได้อย่างดีที่สุด สามารถทำกิจกรรมง่าย ๆ หรือกิจกรรมที่รับน้ำหนัก (Weight – Bearing Activities) ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง กระโดด และกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อกระดูกและกล้ามเนื้อโดยตรง

การดูแลรักษากระดูกในช่วงวัยรุ่น

วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่ร่างกายเจริญเติบโตมากที่สุด โดยเฉพาะกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นช่วงวัยที่ควรบำรุงและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกมากที่สุด เพราะเป็นช่วงวัยที่กระดูกมีการเจริญเติบโตมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ ในช่วงของวัยรุ่นการดูแลและเสริมสร้างความแข็งแรงไม่ต่างจากวัยเด็กมากนัก โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี ความแตกต่างที่เพิ่มเข้ามาในช่วงของวัยรุ่นคือ การเลือกรับประทานอาหารได้เองโดยที่ไม่มีผู้ปกครองมาคอยกำหนด หรือแบ่งสัดส่วนที่ควรรับประทานในแต่ละมื้อและในแต่ละวัน เหตุนี้เองที่ทำให้ช่วงของวัยรุ่น เป็นอีกช่วงวัยที่เผลอทำลายกระดูกด้วยการรับประทานอาหารหรือพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อกระดูกโดยตรง ดังนั้นสิ่งที่ควรปฏิบัติมากที่สุดในช่วงวัยรุ่นคือ

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อกระดูกโดยตรง

เช่น นั่งหรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน การบริโภคคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มอัดลม การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมสูง รวมถึงการใช้บุหรี่และแอลกอฮอล์ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนทำลายกระดูก และส่งผลเสียมายังช่วงวัยที่มากขึ้นในอนาคต

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงวัยรุ่นการออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำมากที่สุด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่

เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และแคลเซียมที่ร่างกายต้องการคือ 800 – 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ควรทานอาหารที่มีวิตามินดี ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอาหารโดยตรงหรืออาหารเสริม

ตรวจเช็กสุขภาพกระดูกทันทีที่เริ่มรู้สึกถึงอาการผิดปกติ

โดยเฉพาะผู้ที่ประวัติทางพันธุ์กรรมของโรคกระดูกหลังคด ซึ่งพบได้มากในช่วงของวัยรุ่น

การดูแลรักษากระดูกในช่วงวัยกลางคน

 

เมื่อมาถึงวัยกลางคน หรือ วัยทำงาน เป็นช่วงวัยที่ผ่านการใช้ร่างกายมาอย่างหนัก และมักประสบกับอาการปวดหลัง ปวดข้อ หรือปวดเมื่อยตามร่างกายในส่วนต่างๆ อาการเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมและการดำรงชีวิตในแต่ละวัน หากพบอาการที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตหรือมีอาการปวด อาการชา ร่วมด้วย ควรพบแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาได้อย่างถูกต้อง

เมื่อมีอาการบาดเจ็บกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อเกิดขึ้น ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ การตรวจเช็กร่างกายในบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อรับการรักษาและทำกายภาพบำบัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางกระดูกโดยตรง เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางในการรักษาร่วมกับผู้ป่วยได้อย่าง ปลอดภัย และตรงจุด หลังได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว การรักษามีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยการไม่ผ่าตัด การผ่าตัดแบบแผลเล็กบาดเจ็บน้อย ผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการทำกายภาพบำบัด ซึ่งขึ้นอยู่จากอาการเจ็บป่วยและปัจจัยอื่นๆ

การดูแลรักษากระดูกในช่วงวัยสูงอายุ

เมื่อเดินทางมาสู่วัยสูงอายุ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชะลออาการเจ็บป่วยและการรับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้หายและบรรเทาอาการเจ็บปวด นอกจากนี้การดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เช่นเดียวกับช่วงวัยอื่นๆ แต่ช่วงวัยสูงอายุมีข้อระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และมีไขมันน้อย จำกัดปริมาณรสชาติของอาหาร ไม่เค็ม ไม่หวาน หรือเปรี้ยวจนเกินไป และการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายที่ไม่หักโหมหรือใช้แรงมากเกินไป

และโรคทางกระดูกที่พบมากในกลุ่มวัยสูงอายุคือ โรคกระดูกข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเกิดจากการเสื่อมตามอายุ และการใช้งาน วิธีการดูแลและตรวจเช็กสภาพของกระดูกข้อเข่าผ่าน “KDMS – The Best Solution” คือการให้ความสำคัญกับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ผ่านการวินิจฉัยและการวิเคราะห์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาต่าง ๆ โดยตรง เพื่อการรักษาที่ดีสุด

ตัวอย่างการรักษา มีทั้งรูปแบบการผ่าตัด และ การรักษาโดยไม่ผ่าตัด เช่น การฉีดน้ำเข้าข้อเข่าเทียม การฉีดพลาสม่าเกล็ดเลือด (PRP) การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ข้อสะโพกเทียม พร้อมกับการทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์และปัจจัยของอาการบาดเจ็บร่วม

CR : https://www.kdmshospital.com/article/howto-take-care-of-bone-and-joint/

Categories
บทความ

รู้ทันเรื่อง ข้อเสื่อม & กระดูกพรุน

โรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) ส่วนมากพบอาการกับข้อใหญ่ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวมาก หรือข้อที่ รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่บุปลายกระดูกข้อ เป็นเหตุให้ผิวของกระดูกอ่อนเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมัน กลายเป็นผิวขรุขระ เป็นผลให้การเคลื่อนไหวของข้อมีการติดขัดและเสียไป การเสื่อมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา

การป้องกันและรักษาโรคข้อเสื่อมโดยไม่ใช้ยา

ถ้าอ้วน หรือน้ำหนักเกิน ให้ลดน้ำหนักลง เพราะน้ำหนักที่เกินทำให้ข้อรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นและเสื่อมเร็วขึ้น ลดการทำงาน หรือการรับน้ำหนักของข้อ หลีกเลี่ยงการกระโดด คุกเข่า การนั่งพับเพียบ งดการยกของหนัก บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงเสมอ เช่น การนั่ง หรือนอน ยกหรือขยับข้อเข่า ข้อสะโพกให้มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลา 20-30 นาทีทุกวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ การว่ายน้ำ ถีบจักรยาน 

โรคกระดูกพรุน กระดูกของคนเรามีหน้าที่สำคัญคือเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ รับน้ำหนักและแรงกดกระแทกต่างๆ เมื่อใช้ไปนานๆ ก็มีการผุกร่อน กระดูกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อผิวกระดูกเริ่มเก่า ร่างกายจะผลิตตัวสลายกระดูก ส่งตรงมายังผิวกระดูกเก่าเพื่อย่อยสลาย จากนั้นร่างกายจะผลิตตัวสร้างเนื้อกระดูก โดยดึงแคลเซียมจากการะแสเลือดเข้ามาเสริมเพื่อให้กระดูกใหม่แข็งแรงฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นตัวควบคุมให้ตัวสลายและตัวสร้างกระดูกทำงานอย่างสมดุล แต่เมื่อเข้าวัยหมดฮอร์โมน ตัวสลายจะทำงานเร็วกว่าตัวสร้างหลายเท่า จนเนื้อกระดูกเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ และเข้าสู่สภาวะกระดูกพรุน

แคลเซียมนั้นสำคัญไฉน

แคลเซียม เป็นแร่ธาตุสำคัญในกระดูกและฟัน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการสร้างฮอร์โมน และเอนไซม์ เพื่อให้ร่างกายทำงานปกติ ในแต่ละวันร่างกายต้องได้แคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ ผู้ชายและผู้หญิงสูงอายุต้องการแคลเซียมประมาณวันละ 1000 – 1200 มิลลิกรัม แคลเซียมมีอยู่ในอาหารปริมาณต่างๆกัน แคลเซียมในนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส เนยแข็ง จะถูกดูดซึมได้ง่ายที่สุด ส่วนแคลเซียมจากกระดูกสัตว์ เช่น ที่พบในปลาเล็กปลาน้อย กะปิ ถูกดูดซึมได้ค่อนข้างดี ในขณะที่แคลเซียมในผัก เช่น เมล็ดงา ถั่วเหลือง ผักคะน้า มะเขือพวง ใบยอ ถูกดูดซึมได้ต่ำ เนื่องจากมีสารหลายชนิดรบกวนการดูดซึม

ยาแคลเซียม แบบเม็ด แคปซูล หรือแบบเม็ดฟู่ ต่างก็เป็นรูปแบบยาที่ทำขึ้นให้แตกต่างกัน เพื่อให้สะดวกแก่การกิน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดเมื่อเลือกซื้อควรทราบว่าตัวยาแคลเซียมนั้นอยู่ในรูปเกลืออะไร ปริมาณเท่าไร และให้แคลเซียมปริมาณเท่าไรหากรับประทานแคลเซียมเสริมมากเกินไป อาจทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงมากกระทั่งเกิดพิษจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต หรือกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อ เกิดอาการท้องผูก คลื่นไส้ มึนงง ปัสสาวะมาก หัวใจเต้นผิดปกติ ดังนั้นในการรับประทานแคลเซียมเสริมนั้นต้องรับประทานแต่พอดีไม่มากเกินไป

CR : https://www.bangkokpattayahospital.com

Categories
บทความ

โรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ

โรคข้อเสื่อมถือเป็นโรคที่พบบ่อย และสร้างปัญหาให้กับผู้สูงวัยในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยโรคข้อเสื่อมพบในตำแหน่งของข้อที่รับน้ำหนักมาก คือ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น

สาเหตุของโรคข้อเสื่อมเกิดจากการใช้ของอวัยวะนั้นๆ เป้นเวลานาน การใช้งานอย่างหนัก และด้วยอายุที่มากขึ้นก็เป็นตัวแปร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวข้อกระดูกเสื่อมซึ่งมักจะเกิดร่วมกับอาการข้ออักเสบด้วย

อาการในระยะแรกอาจมีการขัดหรือฝืดในข้อเป็นครั้งคราวหากมีการอยู่นิ่งเป็นเวลานาน บางรายอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมอยู่ด้วย ซึ่งการเจ็บปวดบริเวณข้อเหล่านี้ อาจสัมพัน์กับการทำกิจกรรม เช่น การขึ้นลงบันได การออกกำลังกายหักโหม นั่งยองหรือนั่งแบบผิดสุขลักษณะ หากมีการอักเสบร่วมด้วยอาจจะมีอาการบวมแดง บริเวณข้อเข่า ข้อเท้า

การรักษาโรคข้อเข่าจะเน้นที่การบรรเทาอาการเจ็บปวด และป้องกันการอักเสบควบคุมให้เกิดการอักเสบน้อยลง ไม่ให้ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ในการรักษาควรเป้นการทำกายภาพบำบัดข้อบริเวรนั้นควบคู่ไปกับการใช้ยาบรรเทาอาการปวดข้อ ในกรณีที่มีอาการเสื่อมของข้อรุนแรง การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าก็สามารถทำได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

การลดน้ำหนักและการออกกำลังกายเป็นทางเลือกหนึ่งของการป้องกันและบรรเทาดรคข้อเสื่อม การลดน้ำหนัก หรือการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถือเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุด เพราะน้ำหนักเกินเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้อกระดูกเสื่อม และทำให้การดำเนินโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากข้อต่างๆ ของร่างกายต้องรับแรงมากกว่าปกติ การลดน้ำหนักจะทำให้อาการปวดข้อดีขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายที่เป็นแบบแอโรบิกช่วยทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป ซึ่งจะเป้นประโยชน์มากกับข้อที่รับน้ำหนักโดยตรง

การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อนั้นๆ มีความแข็งแรง และช่วยผ่อนแรงกระแทกที่กระทบกับข้อโดยตรงแล้ว ยังช่วยทำให้ข้อสึกช้าลง หรือช่วยควบคุมแนวการรับน้ำหนักของข้อนั้นๆ ให้อยู่ในแนวที่ตรงขึ้น ทำให้ข้อรับน้ำหนักน้อยลง

CR : https://www.bangkokpattayahospital.com

Categories
บทความ

กินดีสุขภาพดีแบบ IF

การกินแบบ IF หลักการพื้นฐาน คือ การจัดเวลาการกินอาหารโดยมีช่วงเวลาการอดอาหารเป็นช่วงเวลา ที่จะทำให้ระดับอินซูลินลดลงมากเพียงพอและนานพอหรือเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง ที่ร่างกายเราจะเผาผลาญไขมันสะสมได้

การอดอาหารเป็นช่วงเวลา เป็นกลยุทธ์การลดน้ำหนักได้เร็วและมั่นคงพร้อมทั้งเสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกายที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันทั้งในหมู่คนดัง แวดวงดารา เซเลป และผู้ที่ต้องการมีสุขภาพที่ดี จากการที่ร่างกายไม่มีอาหารเป็นระยะเวลานานพอหรือเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มเผาผลาญน้ำตาลสะสมและไขมันให้กลายเป็นพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจากไขมันจะเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์แก่ร่างกายคุณ นอกเหนือจากการลดน้ำหนักแล้ว การเลือกอาหารสำหรับการกินแบบ IF ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพ การชะลอวัย การลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง (์NCDs) เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้น ก็จะผลิตอินซูลินที่เยอะขึ้นเพื่อการเผาผลาญน้ำตาล ทำให้เราเสี่ยงที่จะดื้อต่ออินซูลิน และร่างกายก็จะสะสมไขมันเยอะจนเกิดภาวะลงพุง และโรคอ้วนได้

ผู้ที่เสี่ยงต่อการกินแบบ IF

✗ ผู้ป่วยจากโรคบางชนิดที่ได้รับการประเมินจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพว่าไม่ควรกินแบบ IF เช่น โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น
✗ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร
✗ ผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าค่ามาตรฐาน BMI
✗ เด็กวัยกำลังเจริญเติบโตและเรียนรู้ และวัยรุ่นหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
✗ มีความผิดปกติหรือมีความวิตกกังวลในด้านการกิน เช่น มีภาวะของโรคคลั่งผอม มีอาการขาดสารอาหารอย่างรุนแรง
✗ ผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาหลักการกินแบบ IF อย่างถูกต้อง หรือทำตามผู้อื่นอย่างไม่เข้าใจในวิธีการ

รูปแบบการกินแบบ IF (Intermittent Fasting)

(สิ่งสำคัญ) คุณควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเริ่มรูปแบบการกิน IF  โดยการกินแบบ IF แบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

1. การอดอาหารเป็นระยะเป็นช่วงเวลา
2. การกินแบบจำกัดมื้อ
3. การกินแบบวันเว้นวัน

การกินแบบเว้นช่วงเวลาการอดอาหาร

【 IF 16/8 】 คือ การอดอาหาร 16 ชั่วโมง และกิน 8 ชั่วโมง (เป็นวิธีที่นิยม เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้น)

○  ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกิน ประมาณ 10.00 น. ถึง 18.00 น. 

【 IF 14/10 】 คือ การอดอาหาร 14 ชั่วโมง และกิน 10 ชั่วโมง

○  ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกิน ประมาณ 9.00 – 19.00 น

【 IF 19/5 】 คือ การอดอาหาร 19 ชั่วโมง และกิน 5 ชั่วโมง

○  Warrior Diet คือ การอดอาหาร 20 ชั่วโมง และกิน 4 ชั่วโมง

การกินแบบจำกัดมื้อ

【 OMAD 】 (One Meal a Day) คือ การกินอาหารมื้อเดียวต่อวันในมื้อเที่ยง หรือไม่เกินบ่าย 4 โมงเย็นจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการกินแบบวิธีนี้
【 2MAD 】 (Two Meals a Day) คือ การงดอาหารเช้า กิน 2 มื้อ ได้แก่ มื้อเที่ยง และมื้อเย็นก่อน 2 ทุ่ม

การกินอาหารแบบวันเว้นวัน

【 5:2 】 คือ การกิน 5 วัน และอดหาร 2 วัน
【 ADF 】 (Alternate Day Fasting) คือ การอดอาหารแบบวันเว้นวัน โดยวันที่อดอาหารอาจจะอดทั้งวันหรือสามารถกินอาหารที่มีแคลอรีต่ำในปริมาณน้อยๆ ประมาณ 500-600 แคลอรีต่อ 2 วันในสัปดาห์

จัดการรูปแบบการกิน IF สำหรับบุคคล

⫸   ผู้ที่สามารถจัดเวลาการกินอาหารได้แน่นอนและสม่ำเสมอ อาจใช้รูปแบบ IF 16/8, 14/10, OMAD, 2MAD, ADF

⫸   ผู้ที่ไม่มีเวลาที่ไม่แน่นอน อาจใช้รูปแบบ IF 19/5, Warrior Diet

โดยรูปแบบการกิน IF นั้นขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ ความชอบ และความสะดวกสำหรับบุคคล บางคนพบว่าการอดอาหารเป็นเวลา 16 ชั่วโมงเป็นเรื่องง่ายที่จำกัดเวลาการกินอาหารไว้เพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน เช่น 9.00 น. ถึง 17.00 น. ในขณะที่บางคนมีช่วงเวลาที่ไม่สะดวก และการทำงานที่ไม่เป็นเวลา โดยสามารถจัดการเวลาการกินได้สามารถความเหมาะสม เพียงแค่คุณไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการกินแบบ IF

 
ระวังข้อผิดพลาดที่จะเกิดจากการกินแบบ IF
  • จัดการความหิวไม่ดี  หากปล่อยให้ร่างกายเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจากความหิว จะทำให้ไม่สามารถควบคุมความหิวได้ แต่สามารถจัดการได้โดยการดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำมะนาวผสมเกลือธรรมชาติ ชาไม่เติมน้ำตาล กาแฟดำ ให้ความขมและความเปรี้ยวเค็มช่วยลดความหิว และการดื่มน้ำแอบเปิ้ลหมัก (Apple Cider Vinegar: ACV) ที่มีประสิทธิภาพลดความหิวได้อย่างรวดเร็ว
  • ไม่งดน้ำตาลหรือกินมื้อที่จัดเต็มไปด้วยความหวาน  หากเป็นมือใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงถอนน้ำตาล จะทำให้คุณโหยอยากน้ำตาลอย่างรุนแรง และจะส่งผลต่อการควบคุมการอดอาหารเป็นช่วงเวลาไม่ได้ผล
  • อดมากเกินไป  การอดอาหารมากไปหรือการกินในปริมาณที่น้อยจากคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้แนะนำ อาจทำให้คุณขาดสารอาหาร ทำให้ร่างกายสร้างระดับคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนกระตุ้นความเครียด ทำให้ร่างกายคุณเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย และหากรุนแรงอาจะเป็นลมหมดสติได้
  • กินมากเกินไป  การกินอาหารจนอิ่มมากเกินไปในระหว่างการกินแบบ IF จะทำให้คุณเกิดอาการเวียนหัว มึนงง และอาเจียนได้ หากอาเจียนอย่างรุนแรงนั่นก็จะทำให้สารอาหารที่คุณพึงจะได้รับหายไปในมื้อนั้นๆ
  •  นอนดึกหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ  เนื่องจากระบบฮอร์โมนที่ซ่อมแซมร่างกาย และระบบควบคุมความอิ่มในร่างกายจะแปรรวนหากนอนดึกมากไป จะทำให้ร่างกายโหยอยากน้ำตาล อาหารหวาน ที่จะทำให้ร่างกายกลับมาสู่ภาวะการกินจุและสร้างภาวะอินซูลินพุ่งสูง (Insulin Spike) ซึ่งเวลาทองของการนอน จะอยู่ระหว่าง 22:00 – 02.00 น.ซึ่งหากคุณได้นอนหลับสนิทภายในช่วงเวลานี้จะดีต่อสุขภาพคุณในเรื่องของการซ่อมแซมของร่างกาย การปรับสมดุลฮอร์โมนต่างๆ ที่จะช่วยมอบความอ่อนเยาว์ให้คุณ
  •  ไม่ออกกำลังกายในการกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อบ้าง  เช่น การออกกำลังกายแบบใช้ Weight การออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน การฝึกโยคะ แน่น่อนการอดอาหารเป็นช่วงเวลาจะทำให้มวลกล้ามเนื้อบางส่วนหดหายไป และยิ่งหากคุณกินอาหารได้น้อยด้วยแล้วก็จะยิ่งเพิ่มความน่ากังวลไปอีก เนื่องจากร่างกายได้ดึงเอาโปรตีนหรือกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานแทนอาหารเพื่อให้พลังงานที่เพียงพอ ดังนั้นหากคุณไม่ออกกำลังกายเพื่อสร้างมวลกล้ามเนื้อบ้าง จะทำให้กล้ามเนื้อของคุณดูลีบไปและหากเกิดการกินจุก็จะทำให้เกิดภาวะโยโย่เอฟเฟกต์หรือภาวะที่น้ำหนักตัวเด้งขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างรวดเร็วและแปรปรวน จากการที่ร่างกายรีบกักเก็บน้ำตาลและไขมันในปริมาณที่มากกว่าปกติเพื่อป้องกันเมื่อเกิดการอดอาหารในครั้งต่อไป

CR : https://pathlab.co.th/eating-with-if-is-great-for-your-health/