Categories
บทความ

ข้อเข่าเสื่อมและวิธีการถนอมข้อเข่าเทียม

ข้อเข่าเสื่อมและวิธีการถนอมข้อเข่าเทียม

โรคข้อเข่าเสื่อม หมายถึง โรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ

สาเหตุความเสื่อมของข้อเข่า

  1. ความเสื่อมแบบปฐมภูมิหรือไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสื่อมของข้อเข่า ได้แก่

  • อายุ พบว่า อายุ 40 ปี เริ่มมีข้อเสื่อม อายุ 60 ปี เป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
  • เพศ ผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
  • น้ำหนักตัวที่เกิน น้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์อย่างมากกับเข่าเสื่อม พบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1 – 1.5 กิโลกรัม ขณะเดียวกันเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
  • การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ เป็นต้น
  • ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
  • กรรมพันธุ์ โรคข้อเข่าเสื่อมมีหลักฐานการถ่ายทอดทางพันธุกรรมน้อยกว่าที่ข้อนิ้วมือเสื่อม
  1. ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ เป็นความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุมีการบาดเจ็บที่ข้อ เส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรือการเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน เป็นต้น

 

อาการโรคข้อเข่าเสื่อม

  • อาการระยะแรก เริ่มปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ ร่วมกับมีอาการข้อฝืดขัด โดยเฉพาะเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เมื่อขยับข้อจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูกหรือมีเสียงดังในข้อ
  • อาการเมื่อมีภาวะข้อเสื่อมรุนแรง อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น บางครั้งปวดเวลากลางคืน อาจคลำส่วนกระดูกงอกได้บริเวณด้านข้างข้อ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเต็มที่จะมีอาการปวดหรือเสียวบริเวณกระดูกสะบ้า หากมีการอักเสบจะมีข้อบวม ร้อน และตรวจพบน้ำในช่องข้อ ถ้ามีข้อเสื่อมมานานจะพบว่า เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ

เกณฑ์วินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. มีอาการปวดเข่า
  2. ภาพรังสีแสดงกระดูกงอก
  3. มีข้อสนับสนุน 1 ข้อ ดังต่อไปนี้
    – อายุเกิน 50 ปี
    – มีอาการฝืดแข็งในตอนเช้านานน้อยกว่า 30 นาที
    – มีเสียงกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหวเข่าจากการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้อ

วิธีถนอมข้อเข่าเทียม

ถึงแม้ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมแล้วก็ยังต้องดูแลตนเองเพื่อถนอมข้อเทียมให้ยาวนาน โดยปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่มีแรงกดที่ข้อ ได้แก่
  • นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งไขว่ห้าง ไขว้ขา การบิดหมุนเข่าไม่ว่ากรณีใด ๆ
  • ขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น
  • การยกหรือแบกของหนัก ๆ
  • การใช้หมอนรองใต้เข่าเป็นเวลานาน ๆ ขณะนอน จะทำให้การไหลเวียนเลือดที่ใต้ข้อพับเข่าเป็นไปได้ไม่สะดวกและข้อเข่าอาจตึงยึดเอ็นที่หนาตัวขึ้น ตลอดจนความขรุขระของกระดูกอ่อนที่บุปลายหัวกระดูก
  1. การจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ได้แก่
  • บริเวณบ้านควรจัดให้โล่ง สว่าง ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเดิน เพื่อกันการสะดุดล้มลง
  • ถ้าจำเป็นต้องขึ้นลงบันไดควรมีราวจับทั้ง 2 ด้านของบันได
  • ส้วมเป็นแบบชักโครก
  • ภายในห้องน้ำควรใช้วัสดุกันลื่น มีราวจับ
  • ควรจัดเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสะดวกสบายขณะอาบน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการลงไปอาบในอ่างอาบน้ำ เพราะอาจลื่นล้มได้ง่าย
Categories
บทความ

ออกกำลังกาย ต้านข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย

ออกกำลังกาย ต้านข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาที่พบบ่อยโดยเฉพาะในวัยสูงอายุและเป็นโรคที่รบกวนกิจวัตรประจำวัน ทำให้ลุกยืน เดิน ขึ้นบันไดได้ลำบาก บางครั้งกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทำให้ไปไหนมาไหนไม่ได้สะดวก บางรายต้องอยู่บ้าน ไม่อยากไปไหนมาไหน แต่เชื่อไหมว่า ยังไม่ทันแก่…ข้อก็เสื่อมได้

ที่มาข้อเสื่อม
            โรคข้อเสื่อม มักเกิดจากการใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง หรือเป็นตามวัยคือใช้งานมานาน ย่อมมีความสึกหรอไปตามเวลา แต่บางรายใช้งานไม่ถูกต้อง จะเป็นการเร่งให้โรคข้อเสื่อมเป็นไปเร็วขึ้น(โรคข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ) มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรคบางอย่างเป็นสาเหตุให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าวัยอันควร เช่น โรคเอ็นภายในข้อเข่าฉีกขาด หมอนรองข้อเข่าแตก กระดูกสะบ้าหลุด หรือมีการติดเชื้อภายในข้อเข่า เป็นต้น โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับองค์ประกอบของข้อเข่าเหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุนำให้เกิดโรคข้อเสื่อมก่อนวัย(โรคข้อเข่าเสื่อมทุติยภูมิ)

พฤติกรรมทำร้ายข้อเข่า
            1.คนที่ชอบนั่งงอเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งยอง ๆ เป็นประจำ จะเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า ซึ่งจะรบกวนการนำอาหารไปสู่เซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อ โรคข้อเข่าเสื่อมนี้ เริ่มจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อโดยตรง และเมื่อเป็นมากขึ้นการสึกหรอจะลามไปยังองค์ประกอบอื่นของข้อเข่า เช่น ชั้นใต้กระดูกอ่อนซึ่งเป็นกระดูกแข็ง จะเกิดถุงน้ำข้างใต้กระดูก หมอนรองเข่าสึก เอ็นหุ้มข้อเข่าหนาตัวขึ้น มีกระดูกงอกบริเวณปลายกระดูก เป็นต้น
            2.กรณีน้ำหนักตัวมากเกินก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่เร่งให้เกิดอาการข้อเสื่อมเร็วขึ้น เพราะข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวตลอดเวลาที่ใช้งานข้อ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน หรือขึ้นลงบันไดก็ตาม  
            3.การใส่รองเท้าส้นสูง จะทำให้ข้อเข่ามีแรงกดทับมากกว่าปกติ ทั้งยังทำร้ายข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า เพราะเป็นอวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักก่อนจุดอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดที่รับน้ำหนักได้ง่าย และหากคนที่ข้อเข่าไม่แข็งแรง หรือมีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ จะมีผลกระทบมากกว่าคนปกติ

อาการข้อเสื่อม
            ในระยะแรก จะสังเกตว่ามีเสียงดังขณะขยับข้อไปมา บางรายมีอาการข้อฝืดโดยเฉพาะเวลานั่งนาน ๆ หรือขณะเปลี่ยนอิริยาบถ จะเสมือนข้อถูกล็อกไว้ ต้องขยับไปมาสัก 2-3 ครั้ง จึงเหยียดเข่าออกได้ บางรายมีข้อบวมโต หรือมีบวมแดง มีน้ำภายในข้อ ซึ่งบ่งถึงการอักเสบที่เป็นมากขึ้นนั่นเอง ในรายที่เป็นมากอาจพบข้อติด ขยับไม่ได้เต็มที่ หรืออาจพบกล้ามเนื้อขาลีบเล็กลงกว่าข้างปกติ เป็นต้น

บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
            การออกกำลังกายหรือกายบริหารนั้น ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเน้นกล้ามเนื้อหน้าขาหรือกล้ามเนื้อเหยียดเข่าเป็นหลัก ท่าบริหารข้างล่างนี้เริ่มจากง่ายไปยาก ดังนี้
ท่าที่ 1 
     – นอนหงาย เอาหมอนเล็ก ๆ วางใต้เข่า
     – เหยียดเข่าตรง นับ 1-10
     – ทำได้ในช่วงแรกที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงมากนัก
ท่าที่ 2 
     – นั่งยกขาข้างหนึ่งวางพาดม้าเตี้ย
     – เหยียดเข่าตรง เกร็งกล้ามเนื้อหน้าขา
     – พร้อมกระดกข้อเท้าขึ้น
     – นับ 1-10 หรือเท่าที่ทำได้
     – ท่านี้เหมาะสำหรับผู้ที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอที่จะยกขาตนเองได้
     – ถ้ามีปัญหาข้อเหยียดไม่สุด ให้ใช้ถุงทรายถ่วงที่ข้อเข่าร่วมด้วย
ท่าที่ 3 
     – นั่งชิดพนักเก้าอี้
     – เหยียดเข่าตรงพร้อมกระดกข้อเท้าขึ้น
     – เกร็งค้างนับ 1-10 ทำสลับข้าง
ท่าที่ 4 
     – นั่งไขว้ขา
     – ขาที่อยู่ด้านล่างเกร็งเหยียดเข่าตรงเท่าที่ทำได้
     – เกร็งนับ 1-10 และทำสลับข้างเช่นกัน
     – ช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขาได้ดี
ท่าที่ 5 
     – นั่งไขว้ขาเหมือนท่าที่ 4 แต่ให้ขาที่อยู่ด้านบนออกแรงกดลงด้วย ในขณะที่ขาล่างเหยียดขึ้นตรงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เช่นกัน
     – กล้ามเนื้อหน้าขาของขาล่างต้องรับน้ำหนักมากขึ้นอีก คือทั้งน้ำหนักของขาล่างรวมกับน้ำหนักของขา ข้างบน และแรงกดจากขาที่อยู่ข้างบน ทำสลับข้างในทำนองเดียวกัน
     – ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหน้าขาและท้องขาได้ดีมาก เป็นท่าที่ยากที่สุด เนื่องจากกล้ามเนื้อหน้าขาต้องออกแรงมากที่สุด
       การบริหารทุกท่าให้เริ่มทำจากน้อยไปมาก โดยทำชุดละประมาณ 20-30 ครั้ง วันละ 2-3 ชุด เป็นอย่างน้อย ค่อย ๆ เพิ่มตามความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบเข่าของแต่ละคน จนได้ประมาณ 100 ครั้งต่อวัน

ใช้ข้อเข่าอย่างถูกวิธี
       การใช้ข้ออย่างถูกวิธี จะช่วยถนอมข้อเข่าให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น ชะลอความเสื่อม ซึ่งวิธีการนั้นตรงข้ามกับพฤติกรรมซึ่งทำร้ายข้อนั่นเอง กล่าวคือ
     • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกิน
     • เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องงอเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ หรือการนั่งยอง ๆ
     • ขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็น หากอยู่บ้านชั้นล่างได้จะเป็นการดีมาก ไม่ต้องขึ้นลงบ่อย ๆ
     • เลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ไม่มีผลร้ายต่อข้อเข่า เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ เป็นต้น
     • หมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อได้
     • ใช้สนับเข่าเท่าที่จำเป็น มักเลือกใช้ในรายที่ข้อเสียความมั่นคง แต่หากข้อยังมีความมั่นคงอยู่ การใช้สนับเข่า อาจทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบเข่าอ่อนแรงได้
     • หากมีอาการเจ็บข้อเข่ามากอย่างเฉียบพลัน อาจถือร่มหรือไม้เท้าในด้านตรงข้ามกับขาที่เจ็บ จะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อ และลดอาการปวดได้

       อย่าลืม หมั่นสำรวจกิจวัตรประจำวันของท่านว่า ในแต่ละวันท่านทำร้ายข้อเข่ามากน้อยเพียงไร หากท่านมีอาการข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย ขอย้ำว่า “ไม่มีคำว่าสาย ในการแก้ไขพฤติกรรมต่าง ๆ ให้ถูกต้อง” สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่มิควรละเลย คือความสม่ำเสมอของการออกกำลังกาย เพื่อเสริมความแข็งแรงของข้อเข่า     

       เริ่มเสียแต่วันนี้ เพื่อป้องกันการเกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=783

Categories
บทความ

ปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ข้อเข่าเสื่อม

ปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ข้อเข่าเสื่อม

“ข้อเข่า” ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักตัวเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ล้วนส่งผลกระทบต่อเข่าได้ เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองเป็นประจำ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือการลื่นหกล้ม ทั้งหมดนี้ต่างส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาข้อเข่าได้ทุกเพศทุกวัย และหากปล่อยไว้ไม่รีบทำการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมได้


รู้จักข้อเข่า

ข้อเข่า ประกอบด้วยกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง ลูกสะบ้า นอกจากนี้ยังมีอวัยวะที่สำคัญอย่าง กระดูกอ่อน และน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าที่ทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของข้อเข่า นอกจากนี้ยังมีเอ็นรอบ ๆ ข้อเข่า เอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลังที่อยู่ด้านใน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงของเข่าและหมอนรองกระดูก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกบริเวณเข่า ช่วยดูดซับและกระจายแรงจากน้ำหนักตัว


ปวดเข่าต้องมีสาเหตุ

อาการปวดเข่าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

  1. เส้นเอ็น (Ligament) หากมีการใช้งานซ้ำ ๆ เช่น นักกีฬาที่มีการใช้งานเข่าซ้ำ ๆ อาจส่งผลให้เส้นเอ็นลูกสะบ้าทำงานหนัก ทำให้อักเสบหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬาหรือฝึกซ้อม การกระทบกระแทกรุนแรงจากการแข่งขันกีฬา เกิดการล้มเข่าบิด อาจทำให้เอ็นรอบ ๆ ข้อเข่าหรือเอ็นไขว้หน้าด้านในฉีกขาด ส่งผลให้เกิดการปวดบวมเข่า ข้อเข่าไม่มั่นคงได้
  2. กระดูกอ่อน (Cartilage) เป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดเข่าได้เช่นกัน ที่พบได้บ่อย เช่น กระดูกอ่อนลูกสะบ้า โดยอาจเป็นร่วมกับเอ็นลูกสะบ้าอักเสบได้ เกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ หรือมีการกระแทกซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดการอักเสบหรือสึกหรอขึ้นบริเวณกระดูกอ่อน หรือจากการงอเข่า นั่งยองเป็นประจำ การใช้งานข้อเข่าในการเดินขึ้นลงบันได ร่วมกับกล้ามเนื้อโดยรวมของสะโพกและขาไม่แข็งแรงมากพอ ก็ส่งผลทำให้คนไข้เกิดอาการปวดเข่าได้ หากเกิดการบาดเจ็บรุนแรง กระดูกอ่อนอาจจะหลุดร่อนเป็นชิ้นมาขัดในข้อเข่าได้ (Loose Body)
  3. หมอนรองกระดูก (Meniscus) ปัญหาของหมอนรองกระดูกอาจเกิดจากความเสื่อมของเนื้อหมอนรองกระดูกตามการใช้งานตามอายุ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา กระดูกอ่อนเกิดการเสียดสีกันไปเรื่อย ๆ เกิดการสึกหรอไปเรื่อย ๆ กลายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ทั้งนี้สาเหตุอื่น ๆ เช่น การหกล้มหรือลื่นไถลผิดท่าอาจจะทำให้หมอนรองกระดูกที่มีความเสื่อมอยู่แล้วฉีกขาดรุนแรงมากขึ้นได้  แต่ในคนที่อายุน้อย ไม่ได้มีปัญหาความเสื่อมของหมอนรองกระดูก หากประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกฉีกขาดและมีอาการปวดเข่าได้เช่นกันในทุกเพศทุกวัย
  4. ภาวะข้อเข่าเสื่อม ก็จะมีอาการปวดเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากปวดด้านในข้อเข่า หากอาการเสื่อมเป็นรุนแรงขึ้นก็จะทำให้ปวดทั่ว ๆ หัวเข่าตามมา ซึ่งสาเหตุข้อเข่าเสื่อมอาจจะเกิดจากมีการบาดเจ็บของส่วนต่าง ๆ ในข้อเข่า เช่น เส้นเอ็น หรือหมอนรองกระดูก และถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที

ปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ข้อเข่าเสื่อม
อาการปวดเข่า

อาการปวดเข่า ส่วนใหญ่จะซ้อนทับกัน ไม่สามารถบ่งชี้ลักษณะอาการได้โดยตรงจากภายนอก แพทย์จะประเมินอาการของคนไข้และวินิจฉัยจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมด้วย แต่หากสงสัยการบาดเจ็บรุนแรงในข้อเข่า การทำ MRI ประกอบเพิ่มเติมจะช่วยให้ทราบถึงความรุนแรงและวินิจฉัยอาการได้ตรงตามตำแหน่ง ในกรณีที่คนไข้มีอาการผิดปกติ เช่น

  1. มีอาการเจ็บหรือปวดข้อเข่าผิดปกติ ประสบปัญหาในการเหยียดงอของข้อ มีอาการเหยียดไม่สุด งอไม่เข้า การยืนหรือลงน้ำหนักไม่ได้หรือได้ไม่เต็มที่
  2. มีอาการปวด บวม ร้อนในตำแหน่งข้อเข่า เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการอักเสบของเข่า
  3. มีอาการปวดเรื้อรังไม่หาย ทานยาสามัญประจำบ้านแล้วไม่ดีขึ้น หรือพักขา ลดการเดินหรือกิจกรรมที่ส่งผลต่อข้อเข่าแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์

รักษาอาการปวดเข่าจากหมอนรองกระดูกฉีกขาด

ปัจจุบันการรักษาอาการปวดเข่าจากหมอนรองกระดูกฉีกขาด ใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery ซึ่งเกิดการฉีกขาดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น  ฉีกแหว่ง ฉีกตามยาว หรือฉีกปลิ้นออกมาขัดและเสียดสีอยู่กับกระดูกข้อเข่า ทำให้รู้สึกเจ็บหรือขัดเวลาขยับเข่า ซึ่งการฉีกขาดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คนไข้อาจพบเจอกับการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกในหลายรูปแบบหรือรูปแบบใดแบบหนึ่งได้ การรักษาจะใช้วิธีการเย็บซ่อมด้วยอุปกรณ์เย็บผ่านกล้อง โดยแพทย์จะเจาะรูแผลผ่าตัดที่เข่าเล็ก ๆ ประมาณ 2 – 3 รู (ขึ้นอยู่กับลักษณะการฉีกขาดของหมอนรองกระดูก) ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบ ๆ เข่าน้อย คนไข้ฟื้นตัวไว ภายหลังการผ่าตัดรักษาแพทย์จะให้คนไข้ทำกายภาพฟื้นฟู ลดอาการปวดบวม บริหารกล้ามเนื้อขาโดยรวม ฝึกการเหยียดงอเข่า ฝึกการเดิน หรืออาจใช้เครื่อง Alter – G เข้ามาช่วยฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อและปรับสมดุลการเดิน ทั้งนี้โปรแกรมการทำกายภาพและการออกกำลังกายของคนไข้แต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการเป็นสำคัญ


ปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ข้อเข่าเสื่อม
ป้องกันปวดเข่า

การป้องกันอาการปวดเข่าสามารถทำได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง คนที่มีน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงท่าที่เสี่ยง เช่น งอเข่า นั่งยอง คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้อาจฝึกการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อต้นขาและสะโพก ได้แก่

  1. ท่าเหยียดขาตรง (Straight Leg Raising) นั่งเก้าอี้ให้หลังตรง ยกขาขึ้น เข่าเหยียดตรงไม่งอ ค้างไว้ นับ 1 – 10 ต่อเซ็ต จะได้การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา
  2. สควอช (Squat) กางขาสองข้างระดับหัวไหล่ สามารถยกแขนเพื่อบาลานซ์ตัว หลังตรงเกร็งหน้าท้อง หย่อนก้นและย่อเข่าลงมา พยายามให้หัวเข่าไม่เลยเกินปลายเท้า ย่อเข่าลง 90 องศา แต่ในผู้ที่มีอาการปวดเข่าแนะนำให้ย่อเข่าลงเพียง 45 – 60 องศาที่เรียกว่า ฮาร์ฟสควอช (Half Squat) ทำ 10 ครั้งต่อเซ็ต
  3. ท่าย่อขา (Lunges) เป็นท่าบริหารโดยการย่อขา เพื่อบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกคล้ายกับการสควอช แต่ใช้การก้าวมาด้านหน้าและย่อเข่าสลับกัน  เป็นต้น


อาการปวดเข่าอาจไม่ใช่แค่ปัญหาจากโรคข้อเข่าเสื่อมแต่เพียงอย่างเดียว หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นเหตุ

Categories
บทความ

ปวดเข่าบ่อย ลุกนั่งเดินเจ็บ สัญญาณโรคข้อเข่าเสื่อม

ปวดเข่าบ่อย ลุกนั่งเดินเจ็บ สัญญาณโรคข้อเข่าเสื่อม

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่พบได้บ่อย และควรให้ความสำคัญ เพราะถ้าหากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ผลที่ตามมาคือ การเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากๆ จะมีอาการเจ็บหรือปวดเข่า ข้อเข่าผิดรูป ข้อฝืด หรือข้อติด เดินได้ไม่ปกติ ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นวิธีสากลที่ได้รับการยอมรับว่าผลการรักษาดีที่สุด ทำให้หายปวดเข่า ข้อเข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


รู้ได้อย่างไร อาการปวดเข่าแบบไหน ที่แสดงว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ มักพบบ่อยในผู้ที่อายุเกิน 40 ปี พบมากในผู้หญิงและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มักเป็นทั้ง 2 ข้าง เมื่อข้อเข่าข้างหนึ่งเริ่มเสื่อมแล้ว จะมีข้อเข่าอีกข้างเสื่อมอีกใน 11 ปีต่อมา

อาการในระยะแรก เริ่มปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ ร่วมกับมีอาการข้อฝืดขัด โดยเฉพาะเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เมื่อขยับข้อจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูกหรือมีเสียงดังในข้อ

เมื่อมีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรง อาการปวดเข่าจะรุนแรงมากขึ้น บางครั้งปวดเวลากลางคืน อาจคลำส่วนกระดูกงอกได้บริเวณด้านข้างข้อ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเต็มที่จะมีอาการปวดหรือเสียวบริเวณกระดูกสะบ้า หากมีการอักเสบจะมีข้อบวม ร้อน และตรวจพบน้ำในช่องข้อ ถ้ามีข้อเสื่อมมานานจะพบว่า เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ


สาเหตุโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม และอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยแบ่งสาเหตุได้ 2 แบบ ดังนี้

  1. ความเสื่อมแบบปฐมภูมิ หรือไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสื่อมของข้อเข่า ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย มีน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เป็นต้น ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง และกรรมพันธุ์
  2. ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ เป็นความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุมีการบาดเจ็บที่ข้อ เส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรือการเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าท์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมตรวจพบได้จากการเอกซเรย์ข้อเข่า โดยฟิล์มที่ปรากฏจะมองเห็นช่องว่างแคบๆ ระหว่างข้อเข่าด้านบนและข้อเข่าด้านล่าง แสดงให้เห็นว่ามีการสึกหรอของกระดูกอ่อน นอกจากนี้แพทย์จะซักประวัติอาการปวดเข่า ประวัติคนในครอบครัว ประวัติการบาดเจ็บข้อเข่า และวัดความสามารถในการงอและเหยียดข้อเข่า


การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. รักษาโดยไม่ใช้ยา ช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เข่าเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ได้แก่ การประคับประคองด้วยการลดแรงกดที่ข้อเข่า ร่วมกับการทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อเข้า การควบคุมน้ำหนักตัว และการบริหารกล้ามเนื้อและออกกำลังเพื่อสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  2. รักษาโดยการใช้ยา อยู่ภายใต้แผนการรักษาของแพทย์ เช่น ยาทาเฉพาะที่ ประเภทยาแก้ปวดและต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และ เจลพริก (Capsaicin) ใช้ทานวดซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความร้อนเฉพาะที่ ยาแก้ปวด พาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในรูปของยารับประทานและยาฉีด ซึ่งช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้ดี และยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  3. รักษาโดยวิธีการผ่าตัด
    • การส่องกล้องข้อเข่า เพื่อตรวจสภาพและล้างภายในข้อ เป็นการรักษาที่น่าจะได้ผลดี ในกลุ่มที่มีเศษขรุขระเล็กน้อยที่เป็นสาเหตุของอาการปวดขัดในข้อ ใช้รักษาภาวะเข่าเสื่อมในระยะแรกเท่านั้น ในกรณีที่ข้อเสื่อมมากหรือรุนแรง แนะนำให้เปลี่ยนผิวข้อแทน
    • การผ่าตัดปรับแนวข้อ ในกรณีที่มีการผิดรูปของข้อ โดยแก้ไขแนวแรงให้กระจายไปยังจุดที่ผิวข้อยังดีอยู่
    • การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty: TKA) เป็นวิธีการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะปานกลางถึงระยะรุนแรง เป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีสากลที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด นั่นคือ ทำให้หายปวดเข่า ข้อเข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม

เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

ปัจจุบัน การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเป็นที่นิยมมาก เพราะเห็นผลการรักษาไว และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่เจ็บเข่าทรมานอีก ซึ่งผิวข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนนั้นทำมาจากสเตนเลสผสมจำพวกนิเกิล โคบอล ไททาเนียม ส่วนหมอนรองกระดูกเทียมทำจากวัสดุจำพวกพลาสติกชนิดพิเศษ (Polyethylene) ไม่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย น้ำหนักเบา และใช้งานได้คงทน เป็นที่รู้จักของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วโลก

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด มีดังนี้

  • มีภาวะข้อเข่าเสื่อมที่มีการสึกหรอและเสื่อมสภาพซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายรังสี
  • มีอาการปวด บวม ตึงข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  • ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

ขั้นตอนในการผ่าตัด

เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวของกระดูกทั้ง 3 ส่วนที่ประกอบกันเป็นข้อเข่า (กระดูกส่วนของต้นขา หน้าแข้ง และสะบ้า) โดยแพทย์จะตัดส่วนของผิวข้อที่สึกหรอหรืออักเสบออกไป ซึ่งมีความหนาประมาณ 8-10 มิลลิเมตร แต่งกระดูกให้ได้มุมรับกับผิวข้อเทียม แล้วจึงใส่ข้อเทียมด้านกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้งซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ทำด้วยโลหะอย่างดี โดยมีพลาสติกชนิดพิเศษซึ่งทำหน้าที่คล้ายกระดูกอ่อน คั่นอยู่ระหว่างข้อเทียมที่เป็นโลหะ ส่วนข้อเทียมที่ใส่ด้านหลังของกระดูกสะบ้าทำด้วยพลาสติกเช่นกัน และใช้ซีเมนต์พิเศษยึดระหว่างข้อเทียมกับกระดูกไว้ ดังนั้นข้อเทียมจึงมีความแข็งแรงและทนทานยาวนาน


การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน ประมาณวันที่ 1-2 หลังทำผ่าตัดจะเริ่มหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด รวมถึงการจัดบ้านให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย และพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อหลังการผ่าตัด ข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานไประยะหนึ่ง เป็นต้น

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม จัดเป็นการผ่าตัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บปวดทรมาน สามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติ สามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้ ออกกำลังกายหรือท่องเที่ยวได้ รวมถึงรูปร่างของข้อเข่าดูสวยงามขึ้น

Categories
บทความ

วิธีการออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก

วิธีการออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก

แนะนำวิธีการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก หมดปัญหาโรคปวดตามร่างกาย

      โรคกระดูกนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่เป็นปัญหาหลัก ๆ ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะมีปัญหาเรื่องกระดูกกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ปวดหลัง ปวดขา ปวดตามข้อพับต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากปัญหากระดูกไม่แข็งแรง หรือกระดูกผิดปกติทั้งนั้น โดยในวันนี้ เราจะขอแนะนำ วิธีการออกกำลังกายที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้กับคุณ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่พึ่งเริ่มออกกำลังกายไม่ควรหักโหม ควรเริ่มจากท่าง่าย ๆ และทำในระยะเวลาอันสั้น ไม่งั้นอาจจะเกิดปัญหาได้ นอกจากนี้ยังต้องทำควบคู่ไปกับการทายอาหารที่มีแคลเซียมอีกด้วย เพื่อให้กระดูกของคุณแข็งแรงนั่นเอง

Weight Bearing Exercise

      ในส่วนนี้คือการออกกำลังกาย ที่จะทำให้ร่างกายของคุณแบกรับน้ำหนักของร่างกายตัวเอง ข้อดีของการออกกำลังกายแบบนี้ก็คือไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วย สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา และมีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตามค่ามาตรฐาน ไม่อ้วนไม่ผอมจนเกินไป แถมการออกกำลังกายแบบนี้ยังสามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทำให้สัดส่วนชัดเจนมากขึ้น ลดไขมันส่วนเกิน และลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเหนื่อยหอบ

      โดยวิธีการออกกำลังกายแบบนี้ มีหลายท่า หลายแบบ สำหรับมือใหม่เราขอแนะนำ การเต้นแอโรบิค หรือการเล่นกีฬาต่าง ๆ ซึ่งไม่ควรหักโหม หรือออกกำลังกายหนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายแบบนี้สำหรับมือใหม่จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาให้ร่างกายปรับตัว หากกะทันหันอาจจะทำให้ร่างกายฝืน เสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อฉีกขาด เป็นอันตรายอย่างมาก นอกจากนี้การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เดิน เดินขึ้นบันได วิ่ง หรือท่าออกกำลังกายเบสิคต่าง ๆ ก็ถือว่าเป็น Weight Bearing Exercise

 

เล่นโยคะ

วิธีการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก-yoga
วิธีการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก-yoga

      วิธีนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยที่มีอาการโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกไม่แข็งแรง การเล่นโยคะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออกกำลังกายที่ไม่ได้ออกแรงเยอะ ไม่จำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป แต่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการเพิ่มมวลกระดูก อีกทั้งยังทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี สามารถลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหมอนรองกระดูก โรคเกี่ยวกับความดัน นอกจากนี้ยังสามารถลดความเครียด ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น ร่างกายยืดหยุ่นขึ้น และสามารถช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้นอีกด้วย เพราะการเล่นโยคะจะเน้นไปที่การยืดหยุ่นร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้นในทุกสภาพแวดล้อม

      โดยการเล่นโยคะนั้นมีหลายท่าทาง สิ่งที่จำเป็นสำหรับมือใหม่ที่ต้องการเริ่มเล่นโยคะคือเสื่อโยคะ และจะต้องเป็นเสื่อโยคะที่ได้มาตรฐาน เพราะการเล่นโยคะจะต้องเน้นไปที่การนอนกับพื้นเรียบ ไม่แนะนำให้ปฏิบัติบนเตียงนอนที่มีความนุ่ม เพราะจะทำให้ร่างกายผิดสรีสะ ขยับตัวในแต่ละท่าลำบาก และอาจจะลามไปถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ โดยเสื่อโยคะที่ได้มาตรฐานจะมีความนุ่ม แต่รักษาสภาพราบพื้นได้ดี ทำให้คุณไม่เจ็บตามร่างกายเวลาปฏิบัติ และไม่นุ่มจนเกินไปซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียทางด้านร่างกายได้

      ท่าทางในการเล่นโยคะแต่ละท่านั้นแตกต่างกันออกไป โดยท่าทางในการเล่นแต่ละแบบก็จะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น ท่าภูเขา ท่านี้ผู้ปฏิบัติจะต้องยืน และทำตัวให้ตรง เท้าทั้งสองข้างชิดสนิทกัน ไม่เกร็งไหล่ ปล่อยตามธรรมชาติ ปล่อยตัวตามแรงดึงดูดของโลก แขนชิด สูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ และปล่อยออกเป็นจังหวะช้า ๆ แต่เป็นธรรมชาติ ชูแขนขึ้นเหนือศีรษะ ฝ่ามือประกบแนบกัน ยืดแขนตรง ให้ปลายนิ้วยืดไปด้านบน ท่านี้จะสามารถช่วยลดความตึงเครียด และช่วยผ่อนคลายร่างกาย เป็นท่าวอร์มที่ดีและมีปริทธิภาพอย่างมาก โดยท่าโยคะที่จะสามารถเพิ่มมวลกระดูกได้เราขอแนะนำท่านี้ ท่า ท่า Spine Twist ซึ่งเป็นท่าที่จะช่วยลดอาการออฟฟิศซินโดรมซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการนั่งทำงานอยู่ท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน โดยอาการนี้จะมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ท่านี้จะสามารถลดอาการนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจ สูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น และทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น อวัยวะภายในต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย

การขยับตัวในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ

      วิธีนี้เป็นวิธีที่เราแนะนำที่สุด และเป็นวิธีที่ทำง่าย แต่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะปัญหากระดูกของคนไทยส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากปัญหากระดูกจากการไม่ขยับในชีวิตประจำวัน เกิดจากการกดทับของกล้ามเนื้อเป็นระยะเวลานาน โดยวิธีการในการขยับตัวนั้นง่ายมาก ๆ การทำงานบ้านต่าง ๆ การเดินขึ้นลงบันไดแทนการขึ้นลิฟท์ ก็สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกได้ดี นอกจากนี้ในการขยับตัวต่าง ๆ ยังสามารถช่วยให้ร่างกายได้ใช้งาน ทำให้ร่างกายคุ้นชินกับการทำงาน และแข็งแรงมากขึ้นในด้านต่าง ๆ เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดปัญหาความเครียด และลดปัญหาปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง นอกจากนี้การขยับตัวยังสามารถลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยซึมเศร้าอีกด้วย

      เทคนิคในการออกกำลังกายเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการเสริมสร้างสุขภาพเท่านั้น เรื่องพื้นฐานอย่างการทานอาหารครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำเยอะ ๆ ก็ยังถือเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดี

Categories
บทความ

การเอกซเรย์กระดูก (Bone X-ray)

การเอกซเรย์กระดูก

            เอกซเรย์(X-Ray) เป็นการตรวจวินิจฉัยซึ่งมีที่มาจากชื่อของรังสีที่ใช้ในการตรวจ นั่นก็คือรังสี X โดยรังสีดังกล่าวมีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้การเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นภาพของอวัยวะภายในใน รูปแบบของภาพขาวดำที่มีปริมาณความเข้มที่ต่างกัน การเอกซเรย์ส่วนใหญ่มักจะใช้ในการตรวจดูความ ผิดปกติของกระดูกส่วนต่าง ๆ ช่องท้อง และทรวงอก เป็นต้น ทั้งนี้โดยปกติแล้วเนื้อเยื่อในร่างกายของเราจะมีคุณสมบัติในการดูดซับรังสีที่แตกต่างกัน จึงทำให้ ภาพที่ออกมามีความชัดเจนไม่เท่ากัน เช่น แคลเซียมในกระดูกจะดูดซับรังสีได้มากที่สุด จึงทำให้เห็นภาพ เอกซเรย์กระดูกเป็นสีขาว ในขณะที่ไขมันและเนื้อเยื่ออื่น ๆ จะดูดซับได้น้อยจึงทำให้เห็นเป็นเพียงสีเทา ส่วน อากาศจะดูซับได้น้อยที่สุด จึงทำให้เมื่อเอกซเรย์ปอดออกมาแล้วเป็นสีดำ โดยในการเอกซเรย์อาจมีการใช้ สื่อกลางที่เป็นสารเคมีเช่น ไอโอดีนหรือแบเรียม โดย

การเอกซเรย์กระดูก (Bone X-Ray) เป็นการเอกซเรย์เพื่อดูสภาพหรือความผิดปกติของกระดูก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลัง แขน ขา มือ กระโหลกศีรษะ หรือแม้แต่ฟัน

ทำไมต้องเอกซเรย์ ?
การเอกซเรย์เป็นหนึ่งในขั้นตอนการวินิจฉัยทางการแพทย์โดยหลังจากการซักประวัติแล้ว แพทย์อาจสั่งให้ทำการเอกซเรย์อีกครั้งเพื่อนำผลมาวินิจฉัยร่วม ซึ่งการเอกซเรย์จะมีขึ้นในกรณีดังต่อไปนี้

▪ กระดูกแตกหักหรือติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่แล้วการแตกหักหรือการติดเชื้อที่กระดูกจะสามารถเห็นได้ชัดเจนผ่านภาพถ่ายเอกซเรย์
▪ ข้อต่ออักเสบ การเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นร่องรอยของอาการข้อต่ออักเสบ และใช้เปรียบเทียบในกรณีอาการข้อต่ออักเสบรุนแรงขึ้น
▪ ใช้ในการทำทันตกรรม ในบางครั้งทัน9แพทย์ก็จำเป็นต้องเอกซเรย์ฟันเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาทางทันตกรรม เข่น ผ่าฟันคุด จัดฟัน หรือการถอนฟัน เป็นต้น
▪ โรคกระดูกพรุน การเอกซเรย์จะทำให้สามารถเห็นความหนาแน่นของกระดูกในเบื้องต้น สำหรับวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
▪ โรคมะเร็งกระดูก สำหรับผู้ป่วยโรคนี้การเอกซเรย์จะช่วยให้แพทย์มองเห็นเนื้องอกที่กระดูกได้ชัดมากขึ้น

Categories
บทความ

ข้อเข่าเสื่อม เป็นได้.. ไม่ต้องรอแก่

ข้อเข่าเสื่อม เป็นได้.. ไม่ต้องรอแก่

โรคข้อเข่าเสื่อมหรือข้อเข่าอักเสบ เป็นผลมาจากข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย เพราะอายุที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อนกำลังลดลง และในเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยหมดประจำเดือน โรคเข่าเสื่อม ไม่ได้พบเฉพาะในผู้ที่สูงอายุเท่านั้น แต่ปัจจัยการใช้ชีวิตบางอย่าง ก็สามารถทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ในคนอายุน้อยๆ ได้เช่นกัน

ข้อเข่าเสื่อม สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าวัย ก็ควรดูแลปัญหาสุขภาพข้อเข่า และการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อม ก็เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตั้งแต่เนิ่นๆโดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการก่อน

ลักษณะโรคข้อเข่าเสื่อม คือ ภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า มีการสึกหรอและเสื่อมอย่างช้าๆ เกิดจากผิวของข้อเข่าซึ่งเป็นกระดูกอ่อนเริ่มสึกหรอ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบเกิดการเสียดสีระหว่างข้อส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงข้อไม่สามารถหล่อลื่นข้อได้เหมือนเดิม ข้อจึงมีอาการติดขัด ฝืด ตึง การรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อเริ่มผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด จนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

ข้อเข่าเสื่อม


“โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปนอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในกลุ่มคนอายุน้อย เช่น ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อ กระดูกแตก มีภาวะของโรคบางชนิด เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ เป็นต้น อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ ท่าทางหรือการเล่นกีฬาบางชนิด เช่น นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ จะเกิดแรงกดที่กระดูกอ่อนของข้อเข่า และการเล่นกีฬาผาดโผน เช่น วิ่ง กระโดด จะทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะข้อเข่าเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป ” 



ปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคข้อเข่าเสื่อม

  • อายุ : อายุมากมีโอกาสเป็นมาก เนื่องจากใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานาน
  • เพศ : เพศหญิงเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2 เท่า
  • น้ำหนัก : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่า
  • พฤติกรรม : ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ
  • เล่นกีฬาที่มีการกระแทก : มักเกิดการปะทะบริเวณหัวเข่า ทำให้หัวเข่าบาดเจ็บ เป็นเหตุให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • อุบัติเหตุ : ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุมีการกระแทกที่ข้อเข่า หรือกระดูกข้อเข่าแตก เอ็นฉีก ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ:  เช่น รูมาตอยด์ เกาต์  มักมีอาการปวดอักเสบบริเวณข้อเข่า

 

สัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • ได้ยินเสียงดังในเข่า
  • ข้อเข่าฝืดแข็ง เหยียดหรืองอเข่าลำบาก
  • ปวดเสียวภายในข้อเข่า
  • งอเข่าได้ไม่สุด ข้อเข่าติดแข็ง
  • กล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรง เมื่อยง่าย ปวดเข่าตอนเคลื่อนไหว

อาการสำคัญของ โรคข้อเข่าเสื่อม

ในระยะแรกจะมีอาการปวดข้อเข่าเล็กน้อย มีข้อฝืดขัด เมื่อขยับมีเสียงดัง พอขยับหรือเดินก็จะปวดมากขึ้น แต่จะทุเลาลงเมื่อได้พักขา อาการปวดจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การเหยียดเข่าหรืองอเข่าเริ่มทำได้ไม่สุดเพราะมีการยึดติดของข้อเข่า มีอาการเข่าหลวมทำให้เดินล้มบ่อย มีเสียงดังกรอบแกรบในเข่าซึ่งเกิดจากการเสียดสี เข่ามีรูปร่างผิดปกติ โก่งงอผิดรูป อาจโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน หากมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

  • มีอาการเจ็บปวดรุนแรง หรือบวมแข็งที่ข้อต่อเข่า
  • มีอาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวม เจ็บปวดบริเวณข้อต่อเข่าอย่างรุนแรง  
  • มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน
  • ข้อเข่ายึดติด ไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุด งอหรือเหยียดเข่าลำบาก




ข้อเข่าเสื่อม


การวินิจฉัย โรคข้อเข่าเสื่อม
แพทย์จะประเมินจากประวัติความเจ็บป่วย ลักษณะการเดิน ตรวจดูรูปร่างของเข่า ลักษณะกล้ามเนื้อขาและรอบเข่า สังเกตอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ดูการเคลื่อนไหวของข้อ การงอ การเหยียด และฟังเสียงกรอบแกรบ ร่วมกับการทำเอกซเรย์ CT scan หรือ MRI ร่วมด้วย


การดูแลและบรรเทาอาการ โรคข้อเข่าเสื่อม

การรักษาโรคเข่าเสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ระยะของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวดข้อเข่า ชะลอการดำเนินโรค ฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่า ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งวิธีการรักษามีดังนี้ การรักษาโดยไม่ใช้ยา แพทย์จะให้ความรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อม เพื่อให้ผู้ป่วยพยายามลดปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เข่าเสื่อมลุกลาม เน้นการออกกำลังและการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า

การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เช่น การใช้ไม้เท้า การเสริมรองเท้าเป็นลิ่มด้านนอก การใช้สนับเข่า เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงของข้อเข่า รวมทั้งช่วยลดอาการปวดข้อเข่า การลดน้ำหนัก หรือใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้เลเซอร์ การฝังเข็ม การใช้ความร้อน การใช้สนามแม่เหล็ก ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาการรักษาร่วมกับผู้ป่วย และเลือกทางที่ดีที่สุด
การรักษาโดยยา  แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยารับประทานตามอาการของโรค รวมถึงการใช้ยาทาเฉพาะ ประเภทที่เหมาะสมตามอาการของแต่ละราย ในปัจจุบันมีการใช้ยาหลายกลุ่ม ได้แก่

  • ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ
  • ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จะช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกสำหรับข้อเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้น
  • ยาทาภายนอก ช่วยลดอาการโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยารับประทาน
  • การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น
  • การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในกรณีข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น


ส่องกล้องข้อเข่าเสื่อม

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

  • การผ่าตัดกล้องส่องข้อเข่า (Arthroscopic Surgery) หรือการผ่าตัดส่องกล้องรักษา ข้อดีคือการผ่าตัดภายในข้อ โดยใช้กล้องขนาดเล็กส่องเข้าไปในข้อนำภาพภายในข้อมายังจอรับภาพ เพื่อแพทย์จะได้เห็นสภาพในข้อเข่าได้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็จะใช้เครื่องมือขนาดเล็กเท่าปากกาสอดเข้าไปในข้อเพื่อทำการผ่าตัด แผลที่ข้อขนาดเล็กเพียง 0.5 ซม. 2 แผล ทำให้ลดการบาดเจ็บ พักรักษาน้อย ฟื้นตัวเร็ว
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty)  ในกรณีที่โรคข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง หรือ ผ่านการรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำกายบริหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วอาการไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อลดอาการปวด เพิ่มพิสัยการขยับของข้อ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสามารถทำได้หลายวิธี 


ฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า เป็นอีกทางเลือก ที่น่าสนใจ

ข้อเข่ามีเสียง ปวดตึง  เพราะอาจเป็นภาวะน้ำไขข้อแห้ง  น้ำไขข้อหรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่าน้ำในข้อเข่า ทำหน้าที่หล่อลื่นภายในข้อเข่าเพื่อลดการเสียดสีและลดแรงกระแทก ช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง ยืน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดแรงกดของผิวกระดูกข้อเข่าขณะเดินหรือวิ่ง

นอกจากการผ่าตัดแล้ว การฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม น้ำเลี้ยงข้อจะมีความผิดปกติ คือ มีความเข้มข้นและความยืดหยุ่นลดน้อยลง เนื่องจากสาร Hyaluronic เสื่อมคุณภาพ ซึ่งการฉีดยาเข้าไปจะส่งผลให้ข้อเข่าลื่น ลดการเสียดสีที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้

Categories
บทความ

การฉีดน้ำไขข้อเทียม

การฉีดน้ำไขข้อเทียม

ข้อเข่าเสื่อม ปัญหาสุขภาพที่พบได้ในทุกวัย ข้อเข่าเสื่อม เป็นอาการที่เกิดจากความเสื่อมสภาพและการสึกหรอจากการใช้งานของข้อเข่า อาการข้อเข่าเสื่อมไม่ได้เกิดในเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย หากมีการใช้งานข้อเข่าไม่ถูกต้องหรือใช้งานหนักมากเกินไป เพราะเข่าถือเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้รองรับน้ำหนักตัว ทั้งการยืน การเดิน การวิ่ง

ข้อเข่าเสื่อมรักษาได้ … วิธีการรักษาข้อเข่าเสื่อม มีแนวทางหลัก 2 วิธีด้วยกัน คือ การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

  • การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเเละญาติ การดูเเลตนเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมออกกำลังกาย การลดน้ำหนักและการใช้เครื่องพยุงต่างๆ

  • การรักษาโดยทางยา เช่น การใช้ยาเพื่อลดอาการปวดพาราเซตามอล ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาเสริมสร้างเเละบำรุงกระดูกอ่อนน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าเทียม รวมไปถึงการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ

  • การผ่าตัด การส่องกล้อง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม การตัดเปลี่ยนแกนกระดูก

รักษาข้อเข่าเสื่อม ด้วยการฉีดยา ทางเลือกในการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

การฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid)

เป็นการฉีดเพื่อยับยั้งกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ เหมาะกับผู้ที่ข้อเข่ายังไม่เสียหายมาก

การฉีดน้ำข้อเข่า หรือสารไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid)

เป็นการฉีดคอลลาเจนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในข้อเข่า เป็นตัวหล่อลื่นและดูดซับแรงกระแทกให้กับข้อเข่า ช่วยลดอาการอักเสบทำให้ข้อเข่ากลับมาใช้งานได้ดีขึ้น เหมาะสำหรับ

  • ผู้ที่มีความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปานกลาง
  • ผู้ที่รับประทานยาบรรเทาอาการปวดและอักเสบร่วมกับการทำกายภาพแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
  • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP: PLATELET RICH PLASMA)

การรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นเป็นการผสานการเยียวยาตามธรรมชาติของร่างกายกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยการนำตัวอย่างเลือด (Plasma) ของตัวผู้ป่วยมาปั่นให้ได้พลาสมาเกล็ดเลือดและฉีดกลับเข้าไปในจุดที่บาดเจ็บ ช่วยลดอาการบาดเจ็บปวด เร่งการฟื้นฟูร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของข้อเข่า

Categories
บทความ

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม

         เป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งพบมากในวัยกลางคน และผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีความเจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ไม่สะดวก มีความทุกข์ทรมาน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ    โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้างการทำงานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ

ข้อเข่าเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

ตามลักษณะการเกิด คือ

  1. ความเสื่อมแบบปฐมภูมิ หรือ ไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ ของผิวกระดูกอ่อนตามวัย ซึ่งสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัว  เพศหญิง และกรรมพันธุ์
  2. ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ เป็นความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุ มีการบาดเจ็บที่ข้อและเส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่า จากการทำงานหรือเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าต์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เป็นต้น

ขอบคุณแหล่งที่มา https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue021/health-station

Categories
บทความ

เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าบาดเจ็บ ต้องรักษา อย่าปล่อยให้บาดเจ็บเรื้อรัง

เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าบาดเจ็บ ต้องรักษา อย่าปล่อยให้บาดเจ็บเรื้อรัง!

สาเหตุของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาดมักเกิดจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีการบิดหมุนตัว มีการกระโดด เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล แบดมินตัน เป็นต้น เมื่อมีการบิดหมุนเข่าจะมีแรงไปกระทำต่อเส้นเอ็นไขว้หน้า ซึ่งทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าเกิดการฉีกขาดได้

สัญญาณเตือนอาการเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

อาการเอ็นไขว้หน้าขาดจะสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ระยะ

ระยะเฉียบพลัน มีอาการปวดเข่าอย่างรุนแรง มีอาการเข่าบิด มีอาการปวด ต้องหยุดเล่นกะทันหัน เข่าบวม ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักข้างที่มีอาการบาดเจ็บได้

ระยะเรื้อรัง เมื่อมีอาการเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดและไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด จะมีอาการเข่าหลวม เข่าไม่มั่นคง ไม่สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อหมอนรองเข่าและกระดูกอ่อนหัวเข่า ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย

วิธีการรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าขาด

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าในปัจจุบันใช้วิธีการส่องกล้องผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า (Arthroscopic ACL reconstruction) และใช้เส้นเอ็นจากตำแหน่งอื่นมาทำเอ็นไขว้หน้าใหม่ ซึ่งพบว่า 95% ของผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตและเล่นกีฬาที่ตนเองรักได้เหมือนเดิม

นายแพทย์ไตร พรหมแสง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา

สุขภาพข้อไหล่ ข้อไหล่

จัดเป็นข้อที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ เมื่อเป็นโรคข้อไหล่แล้ว จะรักษายากที่สุด !!